เวทีนโยบายสาธารณะ หนุนตั้ง “คณะกก.นโยบายบำนาญแห่งชาติ” หวังดูแลผู้สูงอายุไทย

เวทีนโยบายสาธารณะ หนุนตั้ง “คณะกรรมการนโยบายบำนาญแห่งชาติ” หวังดูแลผู้สูงอายุไทย แนะประชาชนเร่งวางแผนการออมเงิน อย่ารอความช่วยเหลือจากรัฐ

aging28บำนาญ

วันที่ 28 กันยายน ที่โรงแรม ทีเค พาเลซ กรุงเทพฯ มีการจัดเวทีเสวนานโยบายสาธารณะ “ระบบบำนาญ” เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เมื่อสูงวัย โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ(มสผส.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)และภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดขึ้น ทั้งนี้ มีผู้สนใจร่วมเข้ารับฟังการเสวนาประมาณ 500 คน

นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูประบบรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย กล่าวว่า ระบบบำนาญที่ดีต้องไม่ใช่การรอคอยความช่วยเหลือ จากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับสังคมผู้สูงวัย แม้เราจะมีระบบประกันสังคม หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่ก็ยังคงไม่เพียงพอหากจะดูแลคุณภาพชีวิตในยามชราภาพให้ดี ประเทศไทยกำลังเจอกับศึกสงครามใหญ่ที่เราไม่เคยเจอ และเรามีทางเดียวที่จะแก้ปัญหาได้ คือต้องเร่งหาระบบรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น โดยประชาชนจะต้องลุกขึ้นมาร่วมกันออมเงินด้วยตัวเองอย่างจริงจัง อย่ารอคอยความช่วยเหลือจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ควรหาวิธีการคืนเงินภาษีให้ประชาชนในรูปแบบของเงินช่วยเหลือยามเกษียณ เพราะประชาชนทุกคนต่างเสียภาษีไปกับการใช้จับจ่ายใช้สอยเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา และเราจำเป็นต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลรับผิดชอบระบบบำนาญโดยตรง เพื่อจัดระบบบำนาญให้สอดคล้องกับความต้องการอย่างแท้จริง

ด้านรศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงข้อเสนอปฏิรูประบบบำนาญแห่งชาติ เพื่อสร้างหลักประกันทางรายได้และการดำรงชีวิตให้กับผู้สูงวัยและประชากรรุ่นใหม่ว่า ปัจจุบันนี้คนไทยอายุยืนขึ้น แต่กลับมีลูกน้อยลงต่างจากอดีต ขณะที่ประชากรวัยทำงานขาดการเตรียมความพร้อมในการสร้างความมั่นคงทางการเงิน และแม้ว่าระบบบำนาญในประเทศไทยจะมีอยู่หลากหลาย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงระบบเหล่านี้ล้วนผูกอยู่กับระบบการคลังของประเทศ ซึ่งอาจมีผลกระทบหากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ รวมถึงความเสี่ยงหากผู้บริหารขาดธรรมาภิบาลในการดูแลเงินส่วนนี้ ขณะที่การริเริ่มหรือปรับปรุงนโยบายต่างๆ ให้เหมาะสม ก็ทำได้ไม่คล่องตัวเพราะมีหลายหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบร่วมกันมากมาย ทั้งนี้การที่ประเทศไทยมีระบบบำนาญแบบหลายเสาหรือหลายชั้น เปรียบเหมือนปิ่นโต หรือขนมชั้น ทำให้ประชาชนคนหนึ่งอาจได้รับเงินบำเหน็จบำนาญจากหลายระบบพร้อมกันตามสถานภาพการทำงานของตน

รศ.ดร.วรเวศม์ กล่าวถึงระบบบำนาญของไทยอาจประสบปัญหาด้านความยั่งยืน เพราะมีระบบบำนาญหลายระบบที่เป็นระบบบำนาญแบบพึ่งพาภาษีอากร หรือระบบบำนาญแบบประกันสังคม ซึ่งจะก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังให้กับประเทศ และเป็นภาระแก่คนรุ่นหลัง โดยพบว่าปัจจุบันรัฐบาลมีภาระงบประมาณด้านสวัสดิการชราภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันรัฐต้องตั้งงบประมาณอุดหนุน จำนวน 2 แสน 6 หมื่นล้านบาท และอีก 20 ข้างหน้าอาจต้องเพิ่มเป็น 4 แสน 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากไม่แก้ไขก็จะกระทบความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว

รศ.ดร.วรเวศม์ กล่าวถึงเสนอแนะเพื่อปฏิรูประบบบำนาญแห่งชาติว่า 1.ต้องสร้างระบบบำนาญชั้นที่ 1 เพื่อคุ้มครองขั้นพื้นฐานด้วยสิทธิสมกับการเป็นผู้สูงอายุ โดยเปลี่ยนจากเบี้ยยังชีพมาเป็นพระราชบัญญัติบำนาญพื้นฐาน 2. สร้างระบบบำนาญชั้น 2 ระบบบำนาญแบบผู้รับมีส่วนร่วมจ่าย เพื่อเพิ่มความเพียงพอและความยั่งยืนของระบบบำนาญ โดยแก้ไขให้สมาชิกกองทุนประกันสังคมสามารถย้ายเงินมาอยู่ในกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. เพื่อออมเงินต่อโดยมีบัญชีส่วนตัว โดยยังได้รับเงินสมทบจากนายจ้างและรัฐบาลเหมือนเดิม และให้ลูกจ้างที่เริ่มทำงานใหม่ให้มาออมกับ กอช.ตั้งแต่ต้น 3.เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบบำนาญชั้นที่ 3 ควรเปลี่ยนระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เป็นระบบบังคับ และส่งเสริมให้มีแผนทางเลือกการลงทุนและส่งเสริมการแข่งขันระหว่างกองทุน 4.ควรแก้ไขพระราชบัญญัติป่าไม้เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนที่มีที่ดินเป็นของตัวเองสามารถปลูกและตัดไม้ที่มีค่าที่ปลูกในพื้นที่ของตนเองเพื่อเป็นบำนาญชีวิตได้ และ5.ควรจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายบำนาญแห่งชาติ เพื่อรับผิดชอบด้านกิจการนโยบายบำนาญของประเทศ

ขณะที่นายยศ วัชระคุปต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยถึงผลการวิจัย “การบูรณาการระบบบำนาญแห่งชาติ” ว่า ในต่างประเทศมีการตั้งระบบบำนาญมานานและแก้ไขมาจนประสบความสำเร็จ เช่น ระบบบำนาญของกลุ่มประเทศยุโรป หรือ EU พบว่า มีระบบการกำหนดนโยบายจากส่วนกลางเพื่อปฏิบัติให้สอดคล้องกัน ขณะเดียวกันมีความต่อเนื่องของการเป็นสมาชิก และมีการตั้งคณะกรรมการ 4 กลุ่ม ทำหน้าที่รับผิดชอบดูแลระบบบำนาญของประเทศสมาชิก ส่วนระบบบำนาญของประเทศญี่ปุ่น พบว่า มีระบบการกำหนดนโยบายจากส่วนกลาง และมีความต่อเนื่องของระบบที่ชัดเจน ครอบคลุมคนทั้งประเทศ และมีความต่อเนื่องของการเป็นสมาชิก นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการด้านบำนาญ เพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับบำนาญของญี่ปุ่น โดยเฉพาะการสร้างระบบที่รองรับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร สังคม และเศรษฐกิจ

“เพื่อสร้างความสอดคล้องกันในการกำหนดนโยบายด้านบำเหน็จบำนาญ และลดความซ้ำซ้อนของการกำกับดูแลโดยหลายหน่วยงาน เราควรตั้งคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายบำนาญ การออมเพื่อยามชราภาพ โดยจะดูภาพรวมทั้งระยะสั้นและระยะยาว พร้อมทั้งเสนอความเห็นให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบ” นายยศ กล่าว

 

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา

วันจันทร์ ที่ 28 กันยายน 2558 เวลา 14:28 น. เขียนโดย thaireform