ปฏิรูป ‘บำนาญผู้สูงอายุ’ สู่สังคม ‘ยิ้มได้วัยเกษียณ’

ผู้สูงอายุ

สังคมไทย ณ วันนี้ ก้าวเข้าสู่ยุคของ “สังคมผู้สูงอายุ” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังข้อมูลจาก กรมการปกครอง ระบุว่า ในปี 2556 ประเทศไทยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป 8,734,101 คน คิดเป็นเกือบร้อยละ 14 จากประชากรทั้งประเทศในปีเดียวกัน 64,785,909 คน นั่นหมายความว่าประเทศไทยจะต้องวางแผนในการรับมือ การช่วยเหลือดูแล และสร้างหลักประกันต่างๆ โดยเฉพาะ “ระบบบำเหน็จบำนาญชราภาพ” ไว้รองรับประชากรกลุ่มนี้ด้วย

28 ก.ย. 2558 มีการจัดเวทีเสวนานโยบายสาธารณะ “ระบบบำนาญ : เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เมื่อสูงวัย” ณ โรงแรมทีเค พาเลซ ถ.แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กทม. ซึ่ง ศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิชาการผู้สนใจปัญหาสวัสดิการของผู้สูงอายุ กล่าวว่า เรื่องของระบบบำนาญผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาทางด้านความยั่งยืน เพราะหลายระบบต้องพึ่งพาภาษีอากร ซึ่งจะก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังให้กับประเทศมาก และเป็นภาระแก่คนรุ่นหลัง

โดยพบว่าปัจจุบันรัฐบาลมีภาระงบประมาณด้านสวัสดิการชราภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะต้องจัดตั้งงบประมาณมาอุดหนุนจำนวน 260,000 ล้านบาท และในอีก 20 ปีข้างหน้าอาจต้องเพิ่มเป็น 470,000 ล้านบาท ซึ่งหากไม่แก้ไขก็จะกระทบความยั่งยืนทางการคลังเป็นระยะเวลายาวนาน

อาจารย์วรเวศม์เสนอแนะว่า ระบบบำเหน็จบำนาญผู้สูงอายุ ควรปรับเปลี่ยนโครงสร้าง 5 ประการดังนี้ 1.ต้องสร้างระบบบำนาญชั้นแรก เพื่อคุ้มครองขั้นพื้นฐานด้วยสิทธิ์สมกับการเป็นผู้สูงอายุ โดยเปลี่ยนจากเบี้ยยังชีพมาเป็นพระราชบัญญัติบำนาญพื้นฐาน 2.สร้างระบบบำนาญซึ่งผู้รับบำนาญจะต้องมีส่วนร่วมจ่าย เพื่อเพิ่มความเพียงพอและยั่งยืนของระบบบำนาญ โดยแก้ไขให้สมาชิกกองทุนประกันสังคมสามารถย้ายเงินมาอยู่ใน กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ได้ เพื่อออมเงินต่อในบัญชีส่วนตัว โดยยังได้รับเงินสมทบจากนายจ้างและรัฐบาลเหมือนเดิม 3.ควรเปลี่ยนระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เป็นระบบบังคับ และส่งเสริมให้มีแผนทางเลือกการลงทุนและส่งเสริมการแข่งขันระหว่างกองทุน เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบบำนาญ 4.ควรแก้ไขพระราชบัญญัติป่าไม้ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนที่มีที่ดินเป็นของตัวเอง สามารถปลูกและตัดไม้ที่มีค่าที่ปลูกในพื้นที่ของตนเองเพื่อเป็นบำนาญชีวิตได้ และ 5.ควรจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายบำนาญแห่งชาติ เพื่อให้มีหน่วยงานรับผิดชอบด้านกิจการนโยบายบำนาญของประเทศเป็นการเฉพาะและครบวงจร

สอดคล้องกับความเห็นของ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และอดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูประบบรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย สปช. กล่าวว่า ระบบบำนาญที่ดีไม่ใช่เพียงแต่การรอคอยความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ หรือรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว แต่ระบบบำนาญที่ดีต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับปัญหาของผู้สูงวัยเองด้วย

“แม้เราจะมีระบบประกันสังคมหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแต่ก็ยังคงไม่เพียงพอ หากจะดูแลคุณภาพชีวิตในยามชราภาพให้ดี การที่จะแก้ปัญหาได้ประชาชนจะต้องลุกขึ้นมามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ไม่เพียงแต่จะรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว” ดร.เจิมศักดิ์ กล่าว

เช่นเดียวกับ นายยศ วัชระคุปต์ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า ในต่างประเทศมีการตั้งระบบบำนาญมานานแล้ว เช่น ระบบบำนาญของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (EU) พบว่ามีการกำหนดนโยบายจากส่วนกลางเพื่อปฏิบัติให้สอดคล้องกัน และได้มีการตั้งคณะกรรมการ4 กลุ่ม ทำหน้าที่รับผิดชอบดูแลในส่วนของระบบบำนาญของประเทศ ส่วน ระบบบำนาญของประเทศญี่ปุ่น ที่เป็นสังคมผู้สูงอายุมานับสิบปีแล้ว ก็มีการกำหนดนโยบายจากส่วนกลาง และมีความต่อเนื่องของระบบที่ชัดเจนเช่นกัน

“ระบบบำนาญของญี่ปุ่นมีความต่อเนื่องของการเป็นสมาชิก และยังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการด้านบำนาญ เพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับบำนาญ โดยเฉพาะการสร้างระบบที่รองรับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรทางสังคมและเศรษฐกิจ ดังนั้น เราจึงควรตั้งคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ การสนับสนุนการออมเมื่อยามชรา กำหนดนโยบายบำนาญทั้งระยะสั้นและระยะยาว” นายยศ กล่าวทิ้งท้าย

 

ที่มา: แนวหน้า ; วันอาทิตย์ ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2558, 02.00 น.