สูงวัยในลอดช่อง สิงคโปร์อาจปรับเพิ่มภาษีอุดรายได้รัฐเพื่อรับมือสังคมสูงวัย

หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจฉบับวันที่ 19-21 กุมภาพันธ์ 2561 เผยแพร่รายงานว่า รัฐบาลสิงคโปร์มีแนวโน้มพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีใหม่ โดยเฉพาะภาษีสินค้าและบริการ (GST) ด้วยเหตุผลอันเนื่องมาจากความกังวลเรื่องสังคมสูงวัยที่กำลังโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สิงคโปร์มีประชากรประมาณ 5.6 ล้านคน ขณะนี้กำลังมีสัดส่วนประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปี 11.7% จากประชากรทั้งประเทศ ความน่ากังวลก็คือ การประเมินจากธนาคารโลกบอกว่า ภายในปี 2050 หรืออีก 32 ปีข้างหน้า ประเทศเล็กๆ แห่งนี้จะมีสัดส่วนจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุด และเป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยเร็วที่สุดในอาเซียน นั่นจึงทำให้รัฐบาลสิงคโปร์พยายามออกนโยบายเพื่อรับมือกับเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะการเพิ่มรายได้ให้กับภาครัฐ

โดยปี 2559 รัฐบาลสิงคโปร์มีการปรับขึ้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้มีรายได้สูงจาก 20% เป็น 22% เพื่อชุดเชยรายจ่ายของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลโดยตรงกับคนที่มีรายได้สูงกว่า 160,000 ดอลล่าร์สิงคโปร์ หรือราว 3.67 ล้านบาทต่อปี ซึ่งมีอยู่ 5% ของกลุ่มผู้มีเงินได้ทั้งหมดในประเทศ

ประชาชาติธุรกิจ อ้างถึงผลสำรวจของรอยเตอร์ซึ่งรายงานความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ 9 ใน 10 คน ประเมินตรงกันว่า ในการแถลงแผนงบประมาณประจำปีซึ่งจะเกิดขึ้นในวันนี้ (19 กุมภาพันธ์) รัฐบาลสิงคโปร์อาจประกาศขึ้นภาษีสินค้าและบริการ (GST) จากเดิม 7% เป็น 8% ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับภาครัฐสำหรับใช้จ่ายทางสังคมในอนาคต ซึ่งนี่ถือเป็นกาปรับขึ้นภาษี GST ครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2550

“การเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสิงคโปร์เป็นปัจจัยหนุนในการปรับเพิ่มอัตราภาษี พร้อมคาดการณ์ว่า รัฐบาลสิงคโปร์อาจปรับเพิ่ม 1% อีกครั้งในปี 2019 เพราะสังคมผู้สูงอายุทำให้สิงคโปร์เก็บภาษีรายได้บุคคลธรรมดาได้น้อยลง”นายฟราสซิส ตัน นักเศรษฐศาสตร์ จากธนาคารยูโอบี มีความเห็นเช่นนั้น