โครงการวิจัย “การทบทวนตัวชี้วัดและระบบข้อมูลเพื่อติดตามประเมิน Active aging สำหรับประเทศไทย”

  • Version
  • Download 445
  • File Size 1,009.28 KB
  • File Count 1
  • Create Date June 23, 2019
  • Last Updated June 23, 2019

โครงการวิจัย "การทบทวนตัวชี้วัดและระบบข้อมูลเพื่อติดตามประเมิน Active aging สำหรับประเทศไทย"

การวิจัยทบทวนตัวชี้วัดและระบบข้อมูลเพื่อติดตามประเมิน Active ageing สำหรับประเทศไทย เป็นการศึกษาเพื่อทบทวนความหมาย กรอบแนวคิด องค์ประกอบ และตัวชี้วัดของ Active ageing ที่มีการกำหนดในระดับนานาชาติ และในประเทศไทย และเพื่อเสนอทางเลือกตัวชี้วัด Active ageing สำหรับประเทศไทย รวมทั้งระบบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตัวชี้วัด Active ageing

จากการศึกษากรอบแนวคิดของ Active ageing พบว่าส่วนใหญ่มีการอ้างอิงกรอบแนวคิดขององค์การอนามัยโลก โดยแบ่งเป็น 3 องค์ประกอบ ได้แก่ ด้านสุขภาพ (Health) ด้านการมีส่วนร่วม (Social participation) และด้านความมั่นคง (Security) อย่างไรก็ตาม ในระดับนานาชาติ ได้มีการปรับกรอบแนวคิดดังกล่าวในบางประเด็น เช่น การเพิ่มองค์ประกอบด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) หรือการเพิ่มองค์ประกอบด้านศักยภาพและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อภาวะ Active ageing (Capacity and Enabling Environment for Active ageing) เป็นต้น และมีบางกรอบแนวคิดที่กำหนดสุขภาพด้านสติปัญญา (ความจำ) โดยในยุโรป (UNECE) ได้มีการพัฒนา Active Ageing Index (AAI) เพื่อติดตามความก้าวหน้าในระดับประเทศของประเทศสมาชิก ในลักษณะของ Composite index โดยแยกประเด็นการมีงานทำออกมา และรวมประเด็นสุขภาพเข้าไปอยู่กับการพึ่งพิงและความมั่นคง สำหรับประเทศไทย ใช้ข้อมูลจากการสำรวจประชากรสูงอายุ ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นหลัก ในการสร้างดัชนี Active ageing โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้พัฒนาดัชนีพฤฒพลังในปีพ.ศ. 2560 ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ 22 ตัวชี้วัด ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านการมีส่วนร่วม ด้านความมั่นคง และด้านสภาพที่เอื้อต่อการมีพฤฒพลัง จัดทำเป็น Composite index ที่ประเมินในระดับจังหวัด เพื่อการเปรียบเทียบระหว่างภาค ระหว่างจังหวัด และระหว่างเพศ

จากการสังเคราะห์กรอบแนวคิดและตัวชี้วัด Active ageing ในระดับนานาชาติ และในประเทศไทย พบว่ามีความคล้ายคลึงกันในด้านองค์ประกอบ โดยในการศึกษานี้ ได้เสนอกรอบของ Active ageing โดยแบ่งเป็น ภาวะ Active ageing 4 ด้าน ได้แก่ ด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านสติปัญญาและการเรียนรู้ และด้านสังคม จำนวน 11 ตัวชี้วัด และปัจจัยสนับสนุน Active ageing จำนวน 4 ตัวชี้วัด และเสนอให้ใช้ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลเดียวกันในทุกตัวชี้วัด เพื่อให้สามารถประเมิน Active ageing ในภาพรวมระดับบุคคลได้ และสามารถประเมินในลักษณะสัดส่วนของประชากรตามระดับ Active ageing ในกลุ่มประชากรหรือในพื้นที่ได้ เพื่อสะท้อนขนาดของปัญหา อีกทั้งยังสามารถวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆกับภาวะ Active ageing ในระดับบุคคลได้ โดยทางเลือกของระบบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การสำรวจประชากรสูงอายุ และการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย เป็นต้น โดยเสนอให้มีการพัฒนาตัวชี้วัดและเครื่องมือประเมิน Active ageing ระดับบุคคล เพื่อการประเมินตนเองโดยผู้สูงอายุหรือโดยครอบครัว และเพื่อการประเมิน Active ageing ในระดับชุมชนหรือในพื้นที่ เพื่อการส่งเสริมการพัฒนา Active ageing ในชุมชนหรือในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการติดตามประเมิน Active ageing ในระดับประเทศ