โครงการ “ศึกษาการดำเนินมาตรการป้องกันการพลัดตกหกล้มและภาวะสมองเสื่อมของผู้สูงอายุในชุมชนในประเทศไทย”

  • Version
  • Download 187
  • File Size 1.49 MB
  • File Count 1
  • Create Date June 23, 2019
  • Last Updated June 23, 2019

โครงการ "ศึกษาการดำเนินมาตรการป้องกันการพลัดตกหกล้มและภาวะสมองเสื่อมของผู้สูงอายุในชุมชนในประเทศไทย"

การหกล้มเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของผู้สูงอายุซึ่งเป็นสาเหตุของการบาดเจ็บ ตั้งแต่การบาดเจ็บเล็กน้อยจนถึงการบาดเจ็บที่รุนแรงเช่นกระดูกสะโพกหรือกระดูกข้อมือหัก หรือเลือดออกในสมอง นอกจากการหกล้มแล้ว ภาวะสมองเสื่อมเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ และต้องอาศัยความช่วยเหลือจากญาติและผู้ดูแล ดังนั้น การป้องกันไม่ให้เกิดการหกล้มและภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุจึงมีความสำคัญในการที่จะป้องกันความพิการ ช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถช่วยเหลือตัวเอง และลดภาระของญาติและคนในครอบครัว

ปัจจุบันได้มีการรณรงค์ให้มีกิจกรรมเพื่อป้องกันการหกล้มและภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุผ่านทางชมรมผู้สูงอายุจากหลายๆหน่วยงาน แต่ยังไม่เคยมีการสำรวจการดำเนินกิจกรรมเพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้มและภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุของชมรมผู้สูงอายุในประเทศไทย การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการกระจายของกิจกรรมป้องกันการพลัดตกหกล้มและภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุไทย และความต่อเนื่องของกิจกรรมในพื้นที่ รวมถึงศึกษาปัจจัยความสำเร็จ และปัญหา/อุปสรรค ของการดำเนินกิจกรรมป้องกันการพลัดตกหกล้มและภาวะ การศึกษานี้ใช้รูปแบบวิจัยเชิงปริมาณ (quantitative research) และเชิงคุณภาพ (qualitative research) มีผลการศึกษาดังต่อไปนี้

  1. นโยบาย/โครงการป้องกันการพลัดตกหกล้มและภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุในชุมชน ของหน่วยงานระดับกรมในกระทรวงสาธารณสุข และกลไกการดำเนินการตามนโยบาย พบว่า กระทรวงสาธารณสุขดำเนินงานส่งเสริมและดูแลสุขภาพผู้สูงอายุผ่านทางโครงการพัฒนาและสร้างเสริมศักยภาพคนไทยกลุ่มวัยสูงอายุ โดยมุ่งเน้นการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุแบบระยะยาว (Long term care) ในชุมชน นอกจากนี้การดำเนินงานด้านการป้องกันพลัดตกหกล้มและภาวะสมองเสื่อมของผู้สูงอายุดำเนินการผ่าน 4 กรมหลักของกระทรวงสาธารณสุข คือ กรมการแพทย์ กรมอนามัย กรมสุขภาพจิต และกรมควบคุมโรค โดยมุ่งเน้นในด้านวิชาการ เช่น การผลิตคู่มือ/แนวทางในการป้องกันฯ ให้แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อย่างไรก็ตามเครื่องมือหรือวิธีการในการป้องกันฯ ของแต่ละกรมมีความซ้ำซ้อนกัน ซึ่งชี้ให้เห็นว่าแต่ละกรมไม่มีการบูรณาการมาตรการ/โครงการด้านผู้สูงอายุร่วมกันให้เป็นภาพรวมของกระทรวงสาธารณสุข
  2. การกระจาย/การเข้าถึงในด้านกายภาพและความต่อเนื่องของการดำเนินของมาตรการฯ พบว่าชมรมฯ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 75-86) มีการจัดกิจกรรมป้องกันฯ ให้แก่ผู้สูงอายุที่เป็นสมาชิก สำหรับการกระจายของการดำเนินมาตรการพบว่า กว่าสามในสี่ของชมรมฯ ที่สำรวจทั้งหมดในแต่ละภาคมีการจัดกิจกรรมป้องกันฯ โดยกระจายอย่างไม่แตกต่างกัน นอกเหนือจากการออกกำลังกายและฝึกความจำที่พบว่ามีประสิทธิผลในการป้องกันฯ ที่มีการสำรวจในครั้งนี้แล้ว ชมรมฯ ส่วนหนึ่งยังจัดกิจกรรมอื่นๆ เช่น การประยุกต์การฟ้องรำพื้นบ้านเพื่อออกกำลังกาย รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อสุขภาพ เช่น การสวดมนต์ ไหว้พระ ถือศีล และฝึกสมาธิ นอกากนี้กิจกรรมฯ ที่จัดในชมรมยังขาดคุณภาพ หากพิจารณาระยะเวลาการจัดกิจกรรมต่อครั้ง ความถี่ในการดำเนินกิจกรรม พบว่าชมรม ฯ ส่วนใหญ่มีการจัดกิจกรรมครั้งละประมาณ 0.5-1 ชั่วโมง เพียง 1-2 ครั้งต่อเดือน ซึ่งอาจไม่เกิดประสิทธิผลในการป้องกันฯ
  3. รูปแบบ กระบวนการ ปัจจัยสนับสนุนและปัญหา/อุปสรรค ของการดำเนินมาตรการฯ การศึกษานี้พบว่า การดำเนินมาตรการป้องกันฯ ของชมรมฯ มีการจัดกิจกรรมการออกกำลังกายและฝึกใช้สมอง แต่คาดว่าในบางชมรมฯ วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของกิจกรรมเหล่านี้อาจเป็นไปเพียงเพื่อสนับสนุนการรวมกลุ่มของสมาชิกด้วยการนัดหมายให้ทำกิจกรรมร่วมกัน นอกจากนี้ผู้สูงอายุบางกลุ่มเข้าไม่ถึงการจัดกิจกรรมของชมรมฯ เนื่องจากปัจจัยส่วนตัวของแต่ละบุคคลเป็นเหตุให้การจัดกิจกรรมป้องกันฯ ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับการศึกษานี้ ได้แก่ 1) ควรมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานระดับกรมของกระทรวงสาธารณสุขที่มีบทบาทในการดูแลผู้สูงอายุ 2) อปท. ควรมีบทบาทหลักในการดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันการพลัดตกหกล้มและสมองเสื่อมของผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นหน่วยงานมีอำนาจในการอนุมัติงบประมาณจากกองทุนสุขภาพระดับตำบลอีกทั้งยังมีความใกล้ชิดกับชุมชนมากที่สุด 3) ควรสร้างองค์ความรู้ด้านการพลัดตกหกล้มและภาวะสมองเสื่อมให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มวัยดูแลสุขภาพของตนเองก่อนเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ เพราะการหกล้มและสมองเสื่อมเกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านสุขภาพหลายปัจจัย และ 4) สถานพยาบาลควรสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมด้านสุขภาพของชมรมผู้สูงอายุ และ อปท. ทั้งด้านบุคลากรและองค์ความรู้ เพื่อให้ชมรมผู้สูงอายุ และ อปท. บรรลุเป้าหมายในการดำเนินการป้องกันการพลัดตกหกล้มและภาวะสมองเสื่อมของผู้สูงอายุในชุมชน