โครงการ “จัดทำข้อเสนอการพัฒนาการดำเนินงานส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ”

  • Version
  • Download 222
  • File Size 9.40 MB
  • File Count 1
  • Create Date June 23, 2019
  • Last Updated June 23, 2019

โครงการ "จัดทำข้อเสนอการพัฒนาการดำเนินงานส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ"

การวิจัยเรื่อง ข้อเสนอการพัฒนาการดำเนินงานส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ มีวัตถุประสงค์การวิจัย คือ  1) ศึกษานโยบาย กลไก และมาตรการในการดำเนินงานส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ 2) เพื่อศึกษาสภาพจริงของการดำเนินงานส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุในรูปแบบโรงเรียนผู้สูงอายุ การรวมตัวผ่านกิจกรรม และการรวมตัวกับกลุ่มคนหลายช่วงวัย  และ (3) เพื่อนำเสนอข้อเสนอการดำเนินงานส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุในรูปแบบโรงเรียนผู้สูงอายุ การรวมตัวผ่านกิจกรรม และการรวมตัวกับกลุ่มคนหลายช่วงวัยประชากรงานวิจัยนี้ ได้แก่ กลุ่มผู้บริหาร ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง กลุ่มคนต่างช่วงวัย และผู้สูงอายุ ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการดำเนินงานส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุในรูปแบบโรงเรียนผู้สูงอายุ การรวมตัวผ่านกิจกรรม การรวมตัวกับกลุ่มคนหลายช่วงวัย และศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.)  จำนวน 556 คน  ใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์และแนวทางการสนทนากลุ่ม ผลการวิจัยพบว่า  1) จากการศึกษาเอกสารเกี่ยวกับการจัดทำนโยบาย กลไก และมาตรการในการดำเนินงานส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม มุ่งเน้นด้านสุขภาพ ด้านการมีส่วนร่วม และด้านความมั่นคงหรือการมีหลักประกันของชีวิต มีการจัดทำมาตรการและออกแบบกลไกเพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการดำเนินงานส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุอย่างเป็นรูปธรรม ทุกรูปแบบเน้นการส่งเสริมการเห็นคุณค่าในตนเอง 2) จากการศึกษาสภาพจริงของการดำเนินงานส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ พบว่า มีความหลากหลายของรูปแบบกิจกรรมการส่งเสริมศักยภาพของผู้สูงอายุขึ้นกับพื้นที่และหน่วยงาน องค์กร และเครือข่ายที่สนับสนุน มีการทำงานร่วมกันระหว่างผู้สูงอายุ และองค์กรภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เน้นการส่งเสริมสังคมและสุขภาพเป็นสำคัญ รองลงมาคือการส่งเสริมการมีรายได้ของผู้สูงอายุ จากการศึกษาพบจุดเน้นและจุดอ่อนที่สำคัญ คือ โรงเรียนผู้สูงอายุ มุ่งเน้นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านสุขภาพและการดูแลตัวเอง โดยให้ผู้สูงอายุและชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ จุดอ่อน คือ กลไกด้านหลักประกันไม่มีความสอดคล้องกับนโยบายและมาตรการ และยังเน้นการรวมกลุ่มเฉพาะผู้สูงอายุการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสมาชิกชุมชนและการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกองทุนการออมน้อย  สำหรับในรูปแบบการรวมตัวผ่านกิจรรมพบว่ามีจุดเน้นที่สำคัญ คือ การรวมกลุ่มเพื่อส่งเสริมการเห็นคุณค่าผ่านกิจกรรม ส่วนจุดอ่อนคือการนำชุมชนเข้ามาร่วมมือและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สูงอายุ และยังขาดการส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนการออม  ส่วนรูปแบบของศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุพบว่ามีจุดเน้นคือการส่งเสริมให้มองเห็นคุณค่าในตนเองของผู้สูงอายุผ่านกิจกรรมหลากหลายทั้งด้านสุขภาพและอาชีพ  ส่วนจุดอ่อนคือการนำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมและการส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนออม

ในด้านนโยบายทุกรูปแบบมุ่งการให้ผู้สูงอายุมองเห็นคุณค่าในตนเองผ่านกิจกรรมสุขภาพและการมีปฏิสัมพันธ์กับคนในสังคม ในขณะที่ให้ความสำคัญกับนโยบายในด้านการเสริมสร้างความมั่นคงและหลักประกันในชีวิตรวมทั้งการพิทักษ์สิทธิ์ของตนเองน้อย  ในด้านมาตรการพบว่าทุกรูปแบบมุ่งเน้นการจัดกิจกรรมกับการให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการแต่การนำชุมชนเข้ามาร่วมในการบริหารจัดการยังให้ความสำคัญน้อย  สำหรับกลไกด้านสุขภาพ พบว่า เน้นการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเข้าใจตนเอง กลไกการมีส่วนร่วม มีการให้ความสำคัญกับความสะดวกในการเข้าร่วมกิจกรรมและความหลากหลายของกิจกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุ กลไกด้านความมั่นคงและมีหลักประกันในชีวิตของผู้สูงอายุพบว่ามีการส่งเสริมอาชีพ  ทุกรูปแบบยังให้ความสำคัญทางด้านหลักประกันและความมั่นคงในชีวิตน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้งกองทุนเพื่อการส่งเสริมการออม