มส.ผส.ร่วมปฏิรูปสังคมสูงวัย ชูอปท.ดูแลผู้สูงวัยในท้องถิ่นอย่างมีคุณภาพ

มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)  โดยแผนงานสร้างและจัดการความรู้เพื่อพัฒนาระบบและกลไกการพัฒนาสังคมสูงอายุอย่างมีคุณภาพ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับร่างระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุพ.ศ … โดยเล็งเห็นว่า ปัจจุบันมีท้องถิ่นเป็นจำนวนมากที่มีความต้องการอยากจะมีบริหารจัดการงบประมาณ โดยนำมาเกื้อหนุนคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยในท้องถิ่น แต่ไม่สามารถกระทำได้อันเนื่องจากติดขัดระเบียบทางราชการ ในฐานะที่มส.ผส.เป็นหน่วยงานทางวิชาการ  จึงได้จัดทำข้อเสนอแก้ปัญหาการใช้งบประมาณของหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ให้สามารถดำเนินงานด้านผู้สูงอายุในทางปฏิบัติ โดยไม่ถูกตีกรอบตั้งคำถามว่าใช้เงินผิดวัตถุประสงค์

ทั้งนี้ประเทศไทยเป็นสังคมสูงอายุ (Ageing Society)  ปีพ.ศ. 2556 มีประชากรสูงอายุจำนวน 9.5 ล้านคนหรือร้อยละ 14.7 ของประชากรทั้งประเทศที่มีจำนวน 64.6 ล้านคน และในปีพ.ศ. 2561 หรือ อีก 5 ปีข้างหน้า ประชากรวัยเด็กจะมีจำนวนเท่าๆกับประชากรผู้สูงอายุ โดยในปีพ.ศ.2583 จะมีจำนวนผู้สูงอายุสูงถึง 251 คน ต่อเด็ก 100 คน  ประชากรสูงอายุในกลุ่มอายุยิ่งสูง ยิ่งเพิ่มเร็ว และต้องการการดูแลระยะยาวเพิ่มสูงขึ้นด้วย

ในขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีไม่น้อยกว่า 7,800 แห่ง ทั่วประเทศเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีภารกิจการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุตามกฎหมายจัดตั้ง กฎหมายการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545 – 2564) มติสมัชชาผู้สูงอายุระดับชาติและสมัชชาสุขภาพแห่งชาตินั้นมีการใช้งบประมาณเพื่อดำเนินงานด้านผู้สูงอายุได้ในวงจำกัดและด้วยความกังวลต่อการถูกตรวจสอบ ทักท้วงจากหน่วยงานตรวจสอบ  แม้จะพิจารณาว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจและหน้าที่ในการสังคมสงเคราะห์และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้ แต่ในทางปฏิบัตินั้นมักพบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งมักเกิดความลังเลและไม่แน่ใจในการดำเนินการเรื่องการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ โดยมีสาเหตุมาจากความที่กฎหมายแม่บทบัญญัติอำนาจหน้าที่ไว้อย่างกว้างๆเป็นผลให้ผู้สูงอายุเข้าไม่ถึงสิทธิบางประการที่ควรจะได้รับตามที่กฎหมายต่างๆกำหนดไว้ โดยเฉพาะกลุ่มที่ประสบปัญหาหรือมีข้อจำกัดในการดำรงชีวิตประจำวัน

มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย(มส.ผส.)  ได้ดำเนินโครงการ“การศึกษาวิเคราะห์และยกร่างกฎหมายลำดับรองเพื่อรองรับอำนาจหน้าที่ของอปท.ในการใช้งบประมาณเพื่อจัดสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ” โดยนักวิจัยที่เป็นนักกฎหมายจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอาทินักวิชาการ นักกฎหมาย งานคลังจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นและนิติกรจากสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย   ผู้ปฎิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานภาคีขับเคลื่อนอาทิ สำนักส่งเสริมและพิทักษ์ผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน สร้างความเข้าใจร่วมกันถึงสิทธิผู้สูงอายุที่ควรได้รับตามกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้และร่วมกันพัฒนาร่างระเบียบฯที่จะทำให้ผู้สูงอายุเข้าถึงสิทธิตนเองมากขึ้น

โดยร่วมกันตั้งแต่พิจารณาข้อจำกัดทางกฎหมายและการปฎิบัติงานที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินทักท้วงการใช้งบประมาณที่ไม่เป็นไปตามระเบียบและขาดระเบียบรองรับในบางกิจกรรม การพิจารณาภารกิจ กิจกรรม และการตีความอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ตลอดจนหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินงบประมาณ ซึ่งในการตรวจสอบเงินแผ่นดินนั้นต้องมีระเบียบกระทรวงมหาดไทยรองรับตามกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จนได้ร่างระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ พ.ศ ………พร้อมแนวปฎิบัติและหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเงินงบประมาณตามบัญชีแนบท้าย
สำหรับร่างระเบียบฯที่ได้จากผลการวิจัยดังกล่าวและการดำเนินงานมีดังต่อไปนี้

1.ร่างระเบียบฉบับนี้มีเจตนารมณ์เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการคุ้มครอง ดูแลและส่งเสริม ให้สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขและบริการสังคมที่จำเป็นตามสิทธิที่กฎหมายต่างๆระบุไว้ให้บรรลุเป้าหมายแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ในปี2564 โดยกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการเบิกจ่ายงบประมาณเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุเป็นการเฉพาะ เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถใช้หลักเกณฑ์ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการได้อย่างถูกต้อง มั่นใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งในการออกระเบียบนี้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้กำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง เป็นระเบียบที่วางแนวทางปฏิบัติที่มีฐานะในการที่จะเบิกจ่ายเงินงบประมาณเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระในการคิดและตัดสินใจ เลือกดำเนินการสิ่งที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้สูงอายุ บริบท รูปแบบในชุมชนท้องถิ่น ซึ่งมีวิถีชีวิตแบบเกื้อกูลกันไม่ว่าจะเป็นระบบอาสาสมัคร หรือรูปแบบที่ต้องจ้างผู้ดูแลเป็นต้น โดยคำนึงถึงฐานะการเงินการคลังของแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับการสนับสนุนทั้งองค์ความรู้และงบประมาณจากหน่วยงานหลัก เช่นกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมถึงการสนับสนุนให้ชุมชนเข้มแข็งในการดูแลผู้สูงอายุด้วย

2.การดำเนินงานดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายโดยการนำข้อเสนอร่างระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ พ.ศ …เข้าสู่การพิจารณา ในการประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ที่มีนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 ต่อไป