รายงานการวิจัย: การวิเคราะห์ช่องว่างทางการคลัง แหล่งรายได้ และความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของการจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ โดยคำนึงถึงผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อผู้สูงอายุ
รายงานการวิจัย การวิเคราะห์ช่องว่างทางการคลัง แหล่งรายได้ และความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของการจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ โดยคำนึงถึงผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อผู้สูงอายุ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลลักษณะทางเศรษฐกิจของประชากรผู้สูงอายุและกลุ่มวัย 40-59 ปี ในปี 2563 ซึ่งเป็น “ประชากรรุ่นเกิดหนึ่งล้านคนต่อปี” หรือ กลุ่มสึนามิประชากร มีความเปราะบางต่อความยากจนสูง เพราะส่วนมากไม่มีความสามารถในการออม เมื่อพิจารณาจากรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สิน ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ปี 2563 มีผู้สูงอายุยากจนพุ่งขึ้นในหลายจังหวัด และส่วนใหญ่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งระดับเบี้ยยังชีพขั้นต่ำที่จะช่วยผู้สูงอายุกลุ่มยากจนที่สุดให้พ้นจากความยากจนได้ จะต้องไม่ต่ำกว่า 2,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ แม้จะเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้า 3,000 บาทต่อเดือน ก็ยังคิดเป็นงบประมาณที่น้อยกว่าระบบบำนาญของเจ้าหน้าที่ภาครัฐในระยะยาว การออกแบบระบบบำนาญแห่งชาติ สามารถพัฒนาระดับมาตรฐานการครองชีพขึ้นไปได้ถึงระดับกึ่งกลางหรือมัธยฐานของครัวเรือนไทยที่ 6,000 บาทต่อเดือน หรือ 200 บาทต่อวัน โดยให้ผู้ทำงานอยู่นอกระบบสามารถทำการออม และให้รัฐบาลร่วมสมทบการออมในสัดส่วนเดียวกัน ซึ่งจะใช้งบประมาณทั้งหมดไม่สูงกว่าระบบบำนาญภาครัฐ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยแหล่งรายได้ที่สำคัญสำหรับระบบบำนาญแห่งชาติ ได้แก่ การขยายฐานภาษี ภาษีฐานทรัพย์สินและการลดนโยบายที่เอื้อให้กับคนรวย (Pro-rich) ซึ่งจะกลายเป็นกลไกสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคมลงได้ โดยคณะผู้วิจัยมีข้อเสนอดังนี้ […]