- Version
- Download 200
- File Size 5.63 MB
- File Count 1
- Create Date June 23, 2019
- Last Updated June 23, 2019
โครงการวิจัย เรื่อง การพัฒนาชุมชนที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัย เพื่อส่งเสริมพฤฒิพลังของผู้สูงวัยอย่างเหมาะสมและยั่งยืน: ระยะที่1 - การพัฒนาตัวชี้วัดของชุมชนที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัย
โครงการวิจัยเรื่องการพัฒนาชุมชนที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัย เพื่อส่งเสริมพฤฒิพลังของผู้สูงวัยอย่างเหมาะสมและยั่งยืน: ระยะที่1 - การพัฒนาตัวชี้วัดของชุมชนที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัย (ภาษาอังกฤษ) Developing age - friendly communities to strengthen active aging with appropriateness and sustainability: Phase1 - Defining the Indicators of age – friendly communities ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ปีงบประมาณ 2560 ชุด งานวิจัยด้านการส่งเสริมและพัฒนาสมรรถนะของผู้สูงอายุเพื่อมุ่งสู่ Healthy Ageing and Active Ageing เพื่อดำรงไว้ซึ่งสมรรถนะในการดำรงชีวิตอย่างอิสระในชุมชนและการมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ดำเนินการวิจัยเป็นแบบผสมผสาน เริ่มจากทำการวิจัยเชิงคุณภาพ เพื่อสร้างตัวชี้วัด โดยการใช้การสนทนากลุ่ม (Focus group) ทั้งหมด 14 กลุ่ม จากมุมมองของ ผู้เชี่ยวชาญ เจ้าหน้าที่และผู้ดูแลผู้สูงอายุ ตลอดจน ผู้สูงอายุที่มีบทบาทในชุมชนการวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างตัวชี้วัด และตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหา (Content validity) โดยการประเมินผลจากผู้เชี่ยวชาญ จากนั้นจะเป็นการวิจัยเชิงปริมาณ โดยนําตัวชี้วัดที่ได้ไปสร้างแบบประเมินสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัยในบริบทไทย โดยใช้แบบสัมภาษณ์ซึ่งมีลักษณะเป็นแบบสอบถามปลายปิดชนิดมาตราส่วน 4 ระดับ หลังจากการเก็บข้อมูลเบื้องต้น ตัวชี้วัดที่ได้ถูกนำมาทดสอบความเที่ยง (Reliability) และความตรง (Validity) ต่อจากนั้นร่างแบบสอบถามได้ถูกปรับแก้ให้เป็นฉบับสมบูรณ์สำหรับเก็บข้อมูลในทุกภูมิภาคของประเทศ ขั้นตอนสุดท้ายเป็นการนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน เพื่อตรวจสอบความตรงเชิงโครงสร้างของตัวชี้วัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัยในบริบทไทย
ผลการวิจัย พบว่า องค์ประกอบของสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัย มีทั้งสิ้น 5 องค์ประกอบ ได้แก่ อาคารสถานที่และการสัญจร ที่อยู่อาศัย/พักพิง กิจกรรมทางสังคม ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และ ระบบบริการชุมชนและสุขภาพ มีค่าน้ำหนักองค์ประกอบอยู่ระหว่าง 0.55 - 0.97 และองค์ประกอบทุกด้านมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ระดับ 0.05 ทุกองค์ประกอบซึ่งตัวชี้วัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทร มีทั้งสิ้น 24 ตัวชี้วัด แยกตามรายองค์ประกอบ ดังนี้ องค์ประกอบที่ 1 อาคารสถานที่และการสัญจร 4 ตัวชี้วัด มีค่าน้ำหนัก องค์ประกอบอยู่ระหว่าง 0.35 - 0.83 องค์ประกอบที่ 2 ที่อยู่อาศัย/พักพิง 4 ตัวชี้วัด มีค่าน้ำหนักองค์ประกอบอยู่ระหว่าง 0.53 - 0.99 องค์ประกอบที่ 3 กิจกรรมทางสังคม 6 ตัวชี้วัด มีค่าน้ำหนักองค์ประกอบอยู่ระหว่าง 0.70 - 0.96 องค์ประกอบที่ 4 ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 6 ตัวชี้วัด มีค่าน้ำหนักองค์ประกอบอยู่ระหว่าง 0.59 - 0.84 องค์ประกอบที่ 5 ระบบบริการชุมชนและสุขภาพ 4 ตัวชี้วัด มีค่าน้ำหนักองค์ประกอบอยู่ระหว่าง 0.67 - 0.93 ผลการทดสอบความเที่ยงตรงของโมเดล ใช้โมเดลการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน พบว่า ค่าดัชนีความสอดคล้องกลมกลืนระหว่างโมเดลสมมติฐานกับข้อมูลเชิงประจักษ์ได้ค่าไค - สแควร์ (2 x) เท่ากับ 47.30 (P = 0.08) ที่องศาอิสระเท่ากับ 35 ดัชนีวัดระดับความกลมกลืน (GFI) เท่ากับ 0.99ดัชนีวัดระดับความกลมกลืนที่ปรับแก้แล้ว (AGFI) เท่ากับ 0.99 ดัชนีวัดระดับความกลมกลืนเปรียบเทียบ (CFI) เท่ากับ 1.00 และค่ารากของค่าเฉลี่ยกําลังสองของความคลาดเคลื่อนโดยประมาณ (RMSEA) เท่ากับ 0.005 หมายความว่า โมเดลตัวชี้วัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรของผู้สูงอายุไทยที่พัฒนาขึ้นสอดคล้องกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์ ซึ่งแสดงว่าเครื่องมือวัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรมีคุณภาพได้มาตรฐาน และตัวชี้วัดทั้ง 24ตัว เป็นตัวชี้วัดที่สําคัญสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดที่สะท้อนสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัย ตามบริบทไทย อันจะนำไปสู่การประเมิน และส่งเสริม พัฒนาสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัยสำหรับประเทศไทยได้ต่อไป