ข้อมูลสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยชี้ชัดประเทศไทยขาด “นโยบายระดับชาติ” รองรับคลื่นมนุษย์ ที่จ่อเข้าสู่สังคมสูงวัยติด 1 ใน 3 ของอาเซียน ย้ำถึงเวลาประเทศไทย“ปฏิรูประบบบำนาญแห่งชาติเพื่อผู้สูงอายุ”
พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ ผู้จัดการแผนงาน มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ระบุถึงวันผู้สูงอายุ 13 เมษายน ในปีนี้ว่าวันผู้สูงอายุในปีนี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สังคมไทยจะตระหนักถึงปัญหาผู้สูงวัยว่ากำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอีกประมาณ 2-3 ปี ประเทศไทยก็จะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งแต่ละประเทศในอาเซียนมีโครงสร้างทางประชากรที่แตกต่างกัน ย่อมมีผลถึงนโยบายประชากรที่แตกต่างกันด้วย ในปีพ.ศ.2558 มีเพียง 3 ประเทศที่จะมีโครงสร้างประชากรเป็นประชากรสูงวัย ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ ประเทศไทย และประเทศเวียดนาม แต่ในอีก 25 ปี คือ พ.ศ.2583 จะเห็นได้ว่าทุกประเทศในอาเซียนจะเป็นสังคมสูงวัยทั้งหมด
โดยโครงสร้างทางอายุของประชากร ในระหว่างปีพ.ศ.2553 – พ.ศ.2583 สัดส่วนของประชากรวัยเด็ก และวัยแรงงาน มีแนวโน้มลดลงในขณะที่สัดส่วนของประชากรสูงอายุ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 13.2 ในพ.ศ.2553 เป็นร้อยละ 32.1 ในพ.ศ.2583 และที่น่าสังเกต คือ ในปีพ.ศ.2560 จะเป็นปีที่คาดว่าสัดส่วนของประชากรวัยเด็กจะเท่ากันกับสัดส่วนของประชากรวัยสูงอายุ
จากผลการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ.2553 – พ.ศ.2583 พบว่า สัดส่วนของประชากรสูงอายุวัยปลาย (อายุ 80 ปีขึ้นไป)มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน กล่าวคือสัดส่วนของผู้สูงอายุวัยปลายจะเพิ่มจากประมาณร้อยละ 12.7 ของประชากรสูงอายุทั้งหมดเป็นเกือบ 1 ใน 5ข้อมูลยังชี้ให้เห็นว่า อัตราการเพิ่มของประชากรโดยรวมมีแนวโน้มลดลงจนติดลบ โดยเริ่มติดลบในช่วงระหว่างปีพ.ศ.2568 – พ.ศ. 2573 เป็นต้นไป ในขณะที่อัตราการเพิ่มของประชากรสูงอายุแม้ว่าจะมีแนวโน้มลดลง แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราการเพิ่มประชากรรวมค่อนข้างมาก อันเป็นผลมาจากอัตราเจริญพันธุ์ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว
พญ.ลัดดา กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงเช่นนี้ ข้อมูลจากรายงานข้อมูลสถานการณ์ ผู้สูงอายุไทย พ.ศ.2555 ซึ่งเป็นรายงานที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) จะต้องทำขึ้นตามพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ เพื่อเสนอต่อครม. ตามมาตรา 9 (10) คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ได้มอบหมายให้มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย(มส.ผส.) ดำเนินการ โดยรายงาน ประจำปี 2555 พบว่าประชากรรุ่นหนุ่มสาวและวัยแรงงานซึ่งเป็นคลื่นมนุษย์ขนาดใหญ่ที่จะกลายเป็นผู้สูงอายุในอนาคต กลับขาดความตระหนักและการเตรียมความพร้อมเพื่อยามสูงอายุ รวมทั้งยังมีทัศนคติในทางลบต่อความเป็นผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น การดำเนินงานด้านการส่งเสริม พัฒนาและคุ้มครองผู้สูงอายุก็ยังต้องเร่งพัฒนาอีกเช่นกัน โดยเฉพาะในเรื่องหลักประกันทางเศรษฐกิจ การเพิ่มโอกาสในการทำงานของผู้สูงอายุ และระบบการดูแลระยะยาวทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ
พญ.ลัดดา กล่าวว่า ทั้งนี้แม้เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2557 คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2555 ของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายแล้วแต่ภาพรวมกลับพบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับให้ความสนใจไม่มากในการแก้ปัญหาข้อเร่งด่วนที่ต้องเร่งทำให้ทันต่อสภาวการณ์ปัญหาประชากรที่เกิดขึ้น
สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบาย เรื่อง การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุเป็นที่สำคัญต่อความมั่นคงและการพัฒนาของประเทศ ในประเด็นที่เร่งด่วนและมีช่องทางเอื้อให้ดำเนินการได้ทันทีในระยะสั้น ได้แก่
1.การนำพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ (พ.ร.บ.กอช.) พ.ศ. 2554 ไปดำเนินการให้เกิดผลโดยเร็วที่สุด แม้ว่าจะมีระบบเบี้ยยังชีพมาเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานแล้ว แต่มิได้หมายความว่าจะเพียงพอและเป็นหลักประกันที่มั่นคง รวมทั้งระบบที่รัฐให้แต่ฝ่ายเดียวนั้น คงยากที่จะรองรับปริมาณประชากรผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อันอาจก่อให้เกิดปัญหาด้านการเงินการคลังของประเทศในอนาคต การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในวัยสูงอายุนั้น ควรเน้นให้ประชากรมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบ การออมจึงเป็นรูปแบบหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพยายามผลักดันให้มีกองทุนการออมแห่งชาติขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนออมเมื่อยามสูงอายุโดยรัฐช่วยสมทบ เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมสูงวัย รัฐควรเร่งดำเนินการเรื่องกองทุนการออมแห่งชาติให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งเร่งพัฒนาระบบหลักประกันทางเศรษฐกิจในรูปแบบอื่น ๆ ด้วย
2. การผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุ ที่ผ่านมาการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ มีการดำเนินงานค่อนข้างล่าช้า ไม่ต่อเนื่องกลจักรสำคัญที่จะผลักดันให้งานด้านผู้สูงอายุขับเคลื่อนไปอย่างต่อเนื่องได้รวดเร็วขึ้น คือ การกระตุ้นและส่งเสริมให้ อปท. เข้ามารับผิดชอบงานด้านการส่งเสริม พัฒนาศักยภาพและคุ้มครองผู้สูงอายุในชุมชนของตนอย่างเป็นระบบ หาก อปท. ได้รับการส่งเสริมให้มีความรู้ความเข้าใจ จะสามารถเข้าถึงและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีบทบาทหน้าที่ตามกฎหมาย มีงบประมาณ และสามารถเป็นแกนหลักในการดึงพลังสมาชิกในชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ร่วมผนึกกำลังกันทำงานได้
พญ.ลัดดา กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอเร่งด่วนในวันผู้สูงอายุ ที่อยู่ในรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2555 มีดังนี้ คือ 1) การส่งเสริมให้ผู้ที่อยู่ในวัยเด็กและวัยแรงงาน หรือผู้ที่จะเป็นผู้สูงอายุในอนาคตเข้าใจและตระหนักเกี่ยวกับกระบวนการสูงวัย การเรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคมที่ประกอบด้วยคนหลายวัย การมีทัศนคติที่ดีต่อผู้สูงอายุ และการเตรียมความพร้อมเมื่อยามสูงอายุ ทั้งในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม เพื่อลดผลกระทบทางลบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงวัยปลายของชีวิต 2) การเร่งพัฒนาระบบดูแลระยะยาวที่บูรณาการทั้งมิติสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อให้ผู้สูงอายุอยู่กับครอบครัวและชุมชนได้นานที่สุด 3) การเพิ่มความเข้มแข็งและขีดความสามารถของชมรมผู้สูงอายุและกระบวนการสมัชชาผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้สูงอายุ