มส.ผส.เดินหน้า ปฏิรูประบบบำนาญแห่งชาติเพื่อผู้สูงอายุ

มส.ผส.จัดเสวนาใหญ่ 28 เม.ย.นี้ ปลุกสังคมไทย ตื่นตัวรับมือวิกฤติระบบการออมเพื่อชราภาพ

พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ ผู้จัดการแผนงาน มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)  กล่าวว่า ในวันที่ 28 เม.ย.นี้จะเป็นช่วงเวลาของการจัดเวทีเสวนาวิชาการ “เดินหน้าปฏิรูประบบบำนาญแห่งชาติเพื่อผู้สูงอายุ” เนื้อหาว่าด้วยการชำแหละระบบระบบการออมเพื่อชราภาพในทุกมิติที่มีอยู่ในประเทศไทย  ทั้งรูปแบบที่มีอยู่แล้ว และรูปแบบในอนาคตที่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้น เพื่อรองรับสถานการณ์ในอีก 15 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุ 25% ถือเป็น 1 ใน 4 ของประชากรไทย  ทั้งนี้ภายในงานเสวนาจะมีการวิเคราะห์ การดำเนินการของสำนักงานประกันสังคม มาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 ว่าสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้สูงอายุและแรงงานนอกระบบได้จริงหรือไม่ รวมทั้งในเวทีเวนาจะมีการเสนอรูปแบบภาพรวมระบบบำนาญแห่งชาติ ที่ประเทศไทยควรเดินหน้าผลักดัน เพื่อรองรับรูปแบบการออมที่ยืดหยุ่น เสมอภาคและออมได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์

ทั้งนี้ ภายในเสวนา งานจะประกอบไปด้วยการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ภูมิคุ้มกันทางการเงิน ต่อครอบครัว และผู้สูงอายุในประเทศไทย” โดย นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ ประธานสภาสถาบันและประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)  รวมถึงการแสดงทรรศนะบทบาทภาครัฐในการสนับสนุนให้เกิดระบบบำนาญ หลักประกันการดำรงชีวิตมั่นคง เพื่อผู้สูงอายุ โดย ดร.อารักษ์ พรหมณี  รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม

ด้าน รศ.ดร.วรเวศม์  สุวรรณระดา คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมีการนำเสนอภาพรวมระบบบำนาญแห่งชาติ  วิเคราะห์ปัญหาปัจจุบันติดขัดที่ตรงไหนบ้าง บำนาญพื้นฐาน เบี้ยยังชีพ , ภาระการคลังที่เกิดจากนโยบายประชานิยม ผลของนโยบายประชานิยม กรณีที่มีการปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพ  2,000-3,000 บาท ตามนโยบายพรรคการเมือง ,ระบบการออม การสร้างหลักการออมด้วยตนเอง โดยเปรียบเทียบสาระสำคัญระหว่างเดินหน้า พ.ร.บ.การออมแห่งชาติ โดยควรแก้ไขรายละเอียดที่เป็นจุดอ่อน เช่น ขบวนการนโยบายระดับชาติภาพรวมของระบบบำนาญทั้งระบบ เป็นต้น กับทางเลือกที่ 3 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม

ส่วน น.ส. อรุณี ศรีโต ประธานเครือข่ายบำนาญภาคประชาชน (คบช.)   จะแสดงทรรศนะต่อทางเลือกที่ 3 ของพรบ.ประกันสังคม และทิศทางบำนาญแห่งชาติเพื่อผู้สูงอายุ  และดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)  กลไกธรรมาภิบาล  จะวิเคราะห์ให้เห็นถึงระบบการจัดการที่คุ้มครองเงิน เปรียบเทียบโครงสร้างบริหารจัดการภายใต้ 2 ระบบ ทั้งพรบ.กอช. และทางเลือกที่3 ของพรบ.ประกันสังคม ,วิเคราะห์กองทุนสวัสดิการชุมชนกับระบบการออม ทางเลือกสำหรับคนที่ออมไม่ได้ (ออมเงินได้แต่ไม่ประจำ หรือ ออมไม่ได้เลย) โดยการยกบทบาทท้องถิ่น บทบาทกองทุนสวัสดิการในชุมชนท้องถิ่น ที่จะเข้ามาให้เกิดการออม ,การเชื่อมโยงภาพระบบบำนาญแห่งชาติตั้งแต่ระดับรากหญ้า ถึงระดับประเทศให้เห็นภาพรวมและความเป็นได้ในการดำเนินงาน และสร้างประโยชน์อย่างไรบ้าง