เตือนสังคมระวังภัยการหกล้มในกลุ่มผู้สูงอายุ

e_cdikmqry4579

พญ.ธัญญรัตน์ อโนทัยสินทวี ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัวคณะแพทย์ รพ.รามาธิบดี   เผยการศึกษาโครงการวิจัย “การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบเรื่องมาตรการการป้องกันการพลัดตกหกล้มและโรคสมองเสื่อมสำหรับผู้สูงอายุไทย” สนับสนุนโดย มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย(มสผส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุถึงสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวังทางสุขภาพให้กับผู้สูงอายุไทยในปัจจุบันจากข้อมูลโดยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ที่ได้ทำการศึกษาปัญหาการเจ็บป่วยจากการตรวจร่างกายของผู้สูงอายุไทยปี 2552  มีการพบว่าขณะนี้มีอุบัติการณ์ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น คือ “การหกล้มในกลุ่มผู้สูงอายุ” ซึ่งพบว่าผู้สูงอายุได้รับบาดเจ็บจากการหกล้ม มีอาการ ตั้งแต่ แผลถลอกเล็กน้อย จนขั้นเกิดการบาดเจ็บที่รุนแรงเช่น กระดูกสะโพกหัก เลือดออกในสมองหรือทุพลภาพ คิดเป็นร้อยละ 12 – 42 นอกจากนี้ยังส่งผลต่อความมั่นใจของผู้สูงอายุในการทำกิจกรรมต่างๆ เนื่องจากกลัวว่าตนเองจะได้รับบาดเจ็บอีก จึงหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรม ลดกิจกรรมทางกาย จนท้ายที่สุดถึงขั้นแยกตัวออกจากสังคม และนำมาซึ่งการเกิดภาวะซึมเศร้าได้ในที่สุด หรือเมื่อหกล้มแล้วได้รับบาดเจ็บจนทุพลภาพแล้ว จะส่งผลให้เป็นภาระของครอบครัวและญาติหรือผู้ดู ซึ่งเรียกง่ายๆ ว่าอยู่ในภาวะพึ่งพิง นั่นเอง

ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุเกิดการหกล้มไม่ใช่เพียงแต่เป็นเพราะอุบัติเหตุ หากมองลึกลงไปจะเห็นว่ามาจาก 2 ปัจจัยหลักคือ ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ซึ่งปัจจัยภายใน ได้แก่ ประวัติการหกล้ม  ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ภาวะความดันโลหิตต่ำ มีความผิดปกติของการทรงตัว รวมถึงประวัติการใช้ยาที่มีผลต่อระบบประสาทเป็นต้น และปัจจัยภายนอก ได้แก่ พื้นต่างระดับ  พื้นมีน้ำขัง  บันไดชันและแคบ รวมถึงการเลือกสวมรองเท้าที่ไม่เหมาะสมเป็นต้น

สำหรับแนวทางในการป้องกัน ช่วยลดการหกล้มในผู้สูงอายุได้ ซึ่งสามารถจำได้ง่ายๆ 4 ข้อง่ายๆ  คือ “ออก ปรับ ลด เลือก”  ได้แก่  1.ออก คือ ออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความมั่นคงในการเดินและการทรงตัวของร่างกาย 2.ปรับ คือปรับปรุงสภาพแวดล้อมรอบๆบ้านให้ปลอดภัย 3.ลด คือลดการทานยานอนหลับและยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และ4.เลือก คือ การเลือกสวมรองเท้าที่เหมาะสม ที่ช่วยลดการลื่นและหกล้มได้  ด้วยแนวทางทั้ง 4 ข้อนี้ สามารถช่วยป้องกันปัญหาการหกล้มได้อย่างเห็นผล  ด้วยการใส่ใจในการดูแลตนเองและรู้จักป้องกันความเสี่ยง สิ่งง่ายๆที่ใครๆสามารถทำได้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงวัยในบ้าน

พญ.ธัญญรัตน์  กล่าวว่าด้วยข้อมูลดังกล่าวนี้นอกจากจะพบเรื่องปัญหาการหกล้มในกลุ่มผู้สูงอายุแล้ว ยังพบว่ามีผู้สูงอายุป่วยด้วยโรคเรื้องรังต่างๆ มากมายเพิ่มสูงขึ้น เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน อ้วนลงพุง ข้อเสื่อมเป็นต้น ประมาณ 63,000 คน และต้องอยู่ในภาวะพึ่งพิง คือภาวะที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือช่วยเหลือตนเองได้น้อยและต้องมีผู้ดูแล คิดเป็นร้อยละ 15 ของผู้สูงอายุ  ซึ่งหากคิดเป็นจำนวนได้ถึงเกือบ 1 ล้านคน ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมจะต้องตระหนักและเตรียมรับมือกับปัญหาทางสุขภาพในผู้สูงอายุไทยที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ และเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลที่เป็นที่รักซึ่งหากทุกคนดูแลและใส่ใจตนเอง รู้จักป้องกันและเตรียมตัวให้พร้อมก็จะสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงสูงวัยได้ ไม่ตกต้องอยู่ในภาวะพึ่งพิงของครอบครัวในอนาคต