ในห้วงที่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางการเมือง บทบาทของการเมืองของภาคประชาชนที่ต่อสู้เรื่องการเพิ่มสิทธิสวัสดิการคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานเพื่อผู้สูงอายุไทยก็ยังคงเข้มข้นและเดินหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง
การเคลื่อนขบวนของเครือข่ายบำนาญภาคประชาชน และคณะทำงาน เครือข่ายแรงงานนอกระบบ โดยคุณอรุณี ศรีโต ประธานเครือข่ายฯ ที่เข้ายื่นหนังสือเสนอให้มีการผลักดันให้เพื่อขอให้มีการดำเนินการบังคับใช้ “พ.ร.บ กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554” ต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา จึงถือเป็นการทำงานเชิงรุกครั้งใหญ่ ครั้งสำคัญที่มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ในฐานะหน่วยงานหลักทางวิชาการที่คอยส่งแรงเชียร์สนับสนุนอยู่ไม่ห่าง
นับจนถึงบัดนี้เป็นระยะเวลานานกว่า 3 ปีแล้วที่มีการละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) อันส่งผลกระทบต่อการสร้างหลักประกันด้านรายได้ในระยะยาวให้กับผู้สูงอายุอย่างมหาศาล โดยปัญหาสำคัญ คือ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวแม้จะมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 12 พ.ค. 2554 แต่เนื่องจากรัฐบาลในอดีตอ้างว่าเป็นกฎหมายที่ออกโดยพรรคฝ่ายค้าน และรายละเอียดการจัดการ ทำให้กฎหมายดังกล่าวไม่ได้ถูกบังคับใช้ ทั้งที่เงื่อนเวลาที่กำหนดให้มีการเปิดรับสมัครสมาชิก กอช.และจ่ายเงินสะสมเมื่อพ้นกำหนด 360 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ได้ประกาศว่าจะเริ่มรับสมัครสมาชิก กอช. ตั้งแต่ วันที่ 8 พ.ค. 2555 เป็นต้นไป แต่รมว.คลังในรัฐบาลก่อนหน้ากลับไม่เสนอร่างกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรีให้เห็นชอบเพื่อเปิดรับสมาชิก
ขณะนี้จึงต้องรอลุ้นกันเพียงอย่างเดียวว่า “มือเศรษฐกิจของ คสช.” จะออกแบบโมเดลประเทศไทยใหม่ เพื่อการพลิกโฉมด้านสวัสดิการโอกาสของผู้สูงอายุให้สามารถดูแลตนเองจากการเกษียณอายุอย่างไร