มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานเสวนาเรื่อง “แรงงานสูงวัย ลมหายใจของอนาคต” เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของกำลังแรงงานผู้สูงอายุ ที่มีผลต่อความมั่นคงของชาติในอนาคต และสร้างการรับรู้และเตรียมพร้อมเพื่อรับมือปัญหาด้วยแนวทางการจ้างงานผู้สูงอายุต่อเนื่องในสถานประกอบการ อีกทั้งนำนโยบายการสร้างเสริมโอกาสในการทำงานให้กับผู้สูงอายุ หรือขยายอายุการทำงานหรือเกษียณให้ไปสู่ภาคการปฏิบัติได้จริง ทั้งนี้เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเลี้ยงดูตนเองได้ อีกทั้งยังเป็นการลดภาวะการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย โดยมีนายวิวัฒน์ ตังหงส์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยนักวิชาการ และตัวแทนสถานประกอบการเข้าร่วมเสวนา
นายวิวัฒน์ ตังหงส์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ประเทศไทยถือว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้ว เนื่องจากสภาพการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากร ทำให้การเพิ่มประชากรลดลง ภาวะทำงานทำให้คนแต่งงานช้า รวมถึงบางครอบครัวก็ยังไม่มีทายาท อีกทั้ง ระบบสาธารณสุขที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ ก็ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยของอายุที่สูงมากขึ้นคืออยู่ที่ 76 ปี และค่าเฉลี่ยของอายุก็มีแนวโน้มที่จะมากขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม ความแข็งแรงในด้านสุขภาพของผู้สูงอายุ ยังมีศักยภาพที่ยังทำงานได้อยู่ แต่ปัจจุบันกลับพบว่าไม่มีการทำงานหรือมีการจ้างงานจากสถานประกอบการที่ไม่มากนักเนื่องจากถึงวัยเกษียณ แต่ขณะเดียวกันสถานประกอบการก็ขาดแคลนแรงงานที่จะมาทดแทนกลุ่มผู้สูงอายุที่เกษียณอายุออกไป จึงเกิดความไม่สมดุลในระบบแรงงานที่อาจส่งผลไปถึงเศรษฐกิจ
นายวิวัฒน์ กล่าวว่า เราหยุดสถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้ แต่ทั้งนี้ก็สามารถเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายทั้งผู้สูงอายุที่ยังมีความสามารถในการทำงานอยู่ รวมถึงสถานประกอบการก็ได้แรงงานที่มีประสบการณ์มาสนับสนุนการทำงาน อย่างไรก็ตาม งานสำหรับผู้สูงอายุนั้นอาจจะไม่ใช่งานในรูปแบบเดิม แต่อาจจะเป็นงานด้านอื่นๆ ที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น งานด้านอาหาร บัญชี หรืองานด้านบริการ เป็นต้น
“สำหรับสถานการประกอบการ ถึงแม้ว่าไม่มีกฎหมายเกษียณอายุเหมือนกับราชการ แต่ส่วนใหญ่ก็จะให้หยุดทำงานเมื่อถึงอายุ 55 ปี ตามประกันสังคม ทั้งๆ ที่ศักยภาพของผู้สูงอายุที่ทำงานอยู่ยังสามารถทำงานได้ต่อไปก็ตาม” นายวิวัฒน์ กล่าว
ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า น่าจะมีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกับระยะเวลาการเกษียณอายุการทำงาน แต่ต้องเป็นไปในรูปแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ควรจะเป็นการก้าวกระโดด เพื่อวิเคราะห์ศักยภาพของแรงงานสูงอายุที่ยังทำงานได้ว่าสามารถทำงานที่ใช้กำลัง หรืองานที่หนักอยู่ได้หรือไม่
เอกชนชูจ้างผู้สูงอายุได้มากกว่าเสีย
ดร.วราทัศน์ วงศ์สุไกร บริษัทโรงเส้นหมี่ชอเฮง จำกัด กล่าวว่า องค์กรมีนโยบายไม่ให้แรงงานเกษียณอายุ หากยังมีความสามารถและต้องการทำงานต่อไป แม้ว่าจะเลยวัย 60 ปีไปแล้ว องค์กรก็จะจ้างต่อ เนื่องจากนโยบายนี้เป็นวัฒนธรรมขององค์กรที่ดูแลกันไปจนกว่าจะทำงานไม่ไหว ซึ่งจ้างต่อโดยไม่ลดเงินเดือนแต่หากเห็นว่างานหนักเกินไปก็จะปรับเปลี่ยนไปอยู่หน่วยอื่นที่ไม่ต้องใช้แรงมากนัก
ดร.วราทัศน์ กล่าวอีกว่า ส่วนผู้สูงอายุที่ไม่สามารถทำงานได้แล้ว องค์กรก็จะมีเงินรายเดือนให้ไปตลอดจนกว่าจะเสียชีวิต คือ อายุ 60-69 ปี ให้เดือนละ 3,000 บาท อายุ 70-79 ปี ให้เดือนละ 4,000 บาท และอายุ 80 ปีขึ้นไปให้เดือนละ 5,000 บาท ทั้งนี้ สาเหตุที่องค์กรจ้างแรงงานผู้สูงอายุต่อ เพราะถือว่าเป็นแรงงานที่ยังมีคุณภาพอยู่ อีกทั้งผู้สูงอายุก็ต้องการทำงานต่อไปอีก และงานบางอย่างก็จำเป็นต้องใช้ความชำนาญจากประสบการณ์ของแรงงาน และที่สำคัญ องค์กรก็จะได้ความคุ้มค่ากลับมาแม้ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มก็ตาม
“สาเหตุที่ต้องจ้างต่อเพราะทุกวันนี้ขาดแคลนแรงงาน บริษัทเราต้องใช้แรงงานต่างชาติพอสมควรเพราะแรงงานใหม่ๆ ในประเทศไม่สนใจทำงานแบบนี้ ดังนั้น การรักษาคนเก่าเอาไวจึงดีกว่าหาแรงงานใหม่อย่างแน่นอน และยังได้ใจแรงงานที่พร้อมจะทุ่มเททำงานเพื่อองค์กรด้วย” ดร.วราทัศน์ กล่าว
นายชานันท์ วัฒนสุนทร จากบริษัท โฮมโปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทปรับเปลี่ยนวิธีคิดแบบใหม่ เพราะสาเหตุหลักคือขาดแคลนแรงงาน จากเดิมที่พนักงานหน้าร้านจะรับสมัครบุคคลที่มีอายุไม่เกิน 35 ปี แต่เพราะขาดแคลนจึงเปลี่ยนใหม่ให้คนทำงานหน้าร้านมีอายุได้ไม่เกิน 53 ปี ซึ่งเราเห็นว่ากลุ่มคนวัยนี้มีประสบการณ์การทำงานและมีความสามารถในการทำงานได้อยู่ ทั้งนี้ บริษัทก็ยังรับสมัครผู้สูงอายุที่ต้องการทำงานเช่นกัน แต่ก็ต้องพิจารณาจากสุขภาพเป็นหลัก และหากเลยวัยเกษียณแต่ยังต้องการทำงานและมีศักยภาพเพียงพอ ก็จะเป็นการจ้างในลักษณะปีต่อปี
“ยิ่งแรงงานใหม่หายาก ผู้สูงอายุก็ยิ่งจะมีประโยชน์ แต่ทั้งนี้ ครอบครัวซึ่งเป็นบุตรหลานของผู้สูงอายุเองก็ต้องปรับทัศนคติด้วย เพราะมีหลายครั้งที่ลูกหลานไม่อยากให้มาทำงาน แต่ผู้สูงอายุเองก็มีความต้องการทำงานอยู่ ตรงนี้ก็ต้องมีการสนับสนุนภายในด้วย” นายชานันท์ กล่าว
นายชานันท์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันเมื่อมีการจ้างงานผู้สูงอายุแล้ว การดูแลด้านสุขภาพก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องควบคู่กันไป โดยต้องดูแลให้เป็นพิเศษมากกว่าแรงงานในวัยปกติทั่วไป ทั้งนี้ ก็เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการทำงาน อีกทั้งยังสามารถปรับเปลี่ยนงานให้เกิดความเหมาะสมสำหรับแรงงานผู้สูงอายุกรณีที่สุขภาพเป็นปัญหาด้วย
นายยุทธนา กล้าผจญ บริษัท ผึ้งน้อยเบเกอรี่ จำกัด กล่าวว่า จากเดิมองค์กรให้พนักงานเกษียณอายุที่ 55 ปี แต่นโยบายจากผู้บริหารปรับเปลี่ยนใหม่เพราะเห็นความสำคัญของแรงงานผู้สูงอายุที่มีประสบการณ์ จึงปรับเป็น 60 ปี และยังให้พิจารณาการสมัครงานของผู้สูงอายุเพิ่มเติม โดยให็มองถึงความสามารถ ประสบการณ์ และสุขภาพเป็นหลัก รวมถึงบุคคลากรเก่าที่อยู่กับบริษัทมานาน แม้ถึงวัยเกษียณไปแล้วแต่ยังต้องการทำงาน และเห็นว่ามีประสบการณที่จะถ่ายทอดไปยังแรงงานใหม่ๆ บริษัทก็จะจ้างต่อเช่นกัน
“อย่างเช่นพนักงานหัวหน้าขนส่งที่ขณะนี้มีอายุ 63 ปี แต่เราจ้างแต่มาได้ 3 ปีแล้ว เพราะประสบการณ์ที่ชำนาญในด้านการขนส่ง ซึ่งเราไม่ได้ให้มาขับรถ แต่ให้มาช่วยบริหารจัดการแก้ไขปัญหา อีกทั้งถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานให้กับแรงงานเพื่อให้เกิดการทดแทนกันได้ต่อไป” นายยุทธนา กล่าว
นายยุทธนา กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอแนะว่า ภาครัฐก็ต้องสร้างแรงจูงใจด้วยการให้ประโยชน์ต่างๆ กับสถานประกอบการในกรณีที่มีการจ้างผู้สูงอายุ ซึ่งจะช่วยให้สถานประกอบการต่างๆ จะได้ตั้งเป็นโนบายในการจ้างงานผู้สูงอายุให้มากขึ้น เช่น มาตรการด้านภาษี เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการดีและเป็นการสร้างความสมดุลด้วย
ด้านรศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ รองคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้การจ้างงานแรงงานผู้สูงอายุเกิดขึ้นในสถานประกอบการ พบว่ามีหลายปัจจัย คือ 1.การให้ความสำคัญของสถานประกอบการ โดยอาจจะเป็นธรรมเนียม หรือหลักการดำเนินการธุรกิจของผู้ประกอบการที่ส่งต่อรุ่นต่อรุ่น 2.ความต้องการแรงงานในบางสาขา เพื่อให้สถานประกอบการสามารถรักษามาตรฐานและผลผลิตได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากความจำเป็นมีมาก ก็ย่อมทำให้การเลือกรักษาแรงงานที่มีความชำนาญ และมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจได้
3.ความยืดหยุ่นและความสามารถทดแทนระหว่างแรงงานผู้สูงอายุ เป็นตัวช่วยส่งเสริมให้สถานประกอบการสามารถปรับเปลี่ยนให้แรงงานสูงวัยทำงานในสถานประกอบการได้ต่อไป และ 4.ระบบแรงงานสัมพันธ์และความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ประกอบการและแรงงาน
รศ.ดร.ศุภชัย กล่าวอีกว่า ส่วนปัจจัยด้านลูกจ้าง ซึ่งเป็นแรงงานผู้สูงอายุ จะมีด้านสุขภาพและศักยภาพทางร่างกายเข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากนั้นยังมีปัจจัยด้านประสบการณ์ การเงิน และที่สำคัญคือปัจจัยด้านลักษณะส่วนบุคคลที่จะรวมถึงทัศนคติของผู้สูงอายุ และทัศนคติของครอบครัว
รศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า มีข้อเสนอแนะในส่วนประเภทของแรงงานที่รัฐเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือได้นั้น ผลวิจัยมีการจำแนกออก 2 ประเภท คือ 1.การทำงานนอกระบบ คือมาตรการภาครัฐที่เข้าไปเสริมให้กับแรงงานผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่มีการทำงานแบบรวมกลุ่ม มาตรการส่งเสริมและให้ความรู้แก่กลุ่มแรงงานในด้านต่างๆ รวมถึงส่งเสริมการสร้างรวมกลุ่มเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์บางประการเพื่อเป็นอำนาจต่อรองกับผู้ว่าจ้าง และ 2.การทำงานในระบบ ที่เป็นเรื่องของความสมัครใจระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ภาครัฐเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกให้สองฝ่าย คือ มาตรการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่สถานประกอบการที่มีการจ้างงานแรงงานผู้สูงอายุเป็นจำนวนมาก มาตรการด้านการปรับเปลี่ยนสวัสดิการสังคมโดยเฉพาะรูปแบบระบบบำเหน็จบำนาญที่ทำให้แรงงานผู้สูงอายุต้องมีการทำงานเพิ่มมากขึ้นก่อนที่จะได้รับสิทธิ
รศ.ดร.ศุภชัย กล่าวอีกว่า หากรัฐบาลเห็นความสำคัญของการจ้างงานผู้สูงอายุ รัฐบาลควรต้องมีการใช้มาตรการตามช่วงระยะเวลา โดยแบ่งเป็นช่วงแรกคือระยะสั้น และระยะที่สองคือระยะปานกลางถึงระยะยาว โดยเป้าหมายทีสำคัญคือเป้าหมายสุดท้ายคือระยะปานกลางถึงระยะยาว
“ทุกสถานประกอบการต้องมีการจ้างงานผู้สูงอายุในอัตราส่วนที่เหมาะสม มีการจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานและดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการแรงงานผู้สูงอายุ ซึ่งจัดเป็นการดำเนินการตามปกติของสถานประกอบการและต้องมีอยู่ในสถานประกอบการ โดยที่แรงงานแต่ละช่วงอายุสามารถอยู่ร่วมกันได้ และไม่มีการเลือกปฏิบัติด้านอายุ รวมถึงให้ภาครัฐผลักดันให้เป็นนโยบาบต่อเนื่อง” รศ.ดร.ศุภชัย กล่าวทิ้งท้าย.-
———————————-