กลุ่มเป้าหมายต้องชัดเจน ตอบโจทย์มาตรการจ้างงานผู้สูงอายุ

ในสถานการณ์ที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปีพ.ศ. 2564  คือมีประชากรอายุ 60ปีขึ้นไปเฉลี่ยถึง 1ใน5 หรือ 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร หลังจากที่ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2548 หรือมีสัดส่วนเกิน 10 เปอร์เซ็นต์  ตามนิยามของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ ด้วยเหตุนี้กระทรวงการคลังจึงมีความพยายามในการผลักดันในเรื่องพระราชบัญญัติบำนาญแห่งชาติเพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้หลังการเกษียณ และมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนให้บริษัทเอกชนจ้างงานผู้สูงอายุได้ทำงานโดยนำรายจ่ายในการจ้างงานผู้สูงอายุไม่เกิน 65ปี มาหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

โดยในประเด็นดังกล่าวนี้ พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษต่อผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ โดยในบางส่วนของการสัมภาษณ์  ระบุว่า “จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติช่วงวัยที่อยากทำงานและมีแนวโน้มสูงขึ้นคือ 60-64 ปี  ดังนั้นมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจ้างงานผู้สูงอายุก็ควรจะเริ่มที่ 60ปี  เพียงว่าก่อนหน้านั้นสถานประกอบการก็ต้องจ้างต่อเนื่องมาตั้งแต่อายุ 55ปี   และจากข่าวที่ระบุว่าเพดานเงินเดือนผู้สูงอายุที่จะจ้างตามมาตรการภาษีนั้นต้องไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะเป็นพนักงานในระดับปฏิบัติการเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดีท้ายที่สุด การเลือกเกณฑ์ช่วงใดก็ขึ้นอยู่กับผู้กำหนดนโยบายจะเป็นผู้ตัดสินใจ

พญ.ลัดดาให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมอีกว่า ที่ผ่านมามูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทยได้จัดเสวนาวิชาการมีข้อเสนอหลายๆ อย่างจากผู้ประกอบการว่า ทุกวันนี้สถานการณ์ได้บีบบังคับให้สถานการณ์ประกอบการต้องรับแรงงานผู้สูงอายุอยู่แล้ว โดยเฉพาะแรงงานที่มีประสบการณ์และฝีมือต่อการผลิตไม่ใช่เป็นการจ้างเพื่อสงเคราะห์ ดังนั้นข้อเสนอฝ่ายนายจ้างที่ต้องการจากรัฐบาลหลักๆ คือ 1. มาตรการภาษีเช่นที่กระทรวงการคลังกำลังผลักดัน 2. การส่งเสริมการลงทุนเพื่อการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี เพื่อช่วยผ่อนแรงในการจ้างงานผู้สูงอายุ 3. อัตราค่าตอบแทนตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่รัฐต้องวางกติกาเพื่อการจ้างงานผู้สูงอายุ ไม่ใช่เป็นการจ้างงานเหมือนแรงงานหนุ่มสาว

ขอขอบคุณภาพและข่าวจากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจคลิกดาวน์โหลดอ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ลิงค์นี้