ภาวะซึมเศร้า (depression) เป็นภาวะที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงหรือพิการซึ่งประสบความยากลำบากในการเข้ารับบริการสาธารณสุข บุคคลกลุ่มนี้จะมีโอกาสเกิดภาวะซึมเศร้าได้สูงกว่าผู้สูงอายุทั่วไป ภาวะซึมเศร้านั้นมีโอกาสพัฒนาไปเป็น “โรคซึมเศร้า” ได้ในอนาคต นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะนำ ไปสู่การทำ ร้ายตนเอง ซึ่งผู้ดูแลจะต้องตระหนักถึงภาวะอันตรายดังกล่าว
ด้วยเหตุนี้ ผู้ใกล้ชิดหรือผู้ดูแลผู้สูงอายุจึงควรมีทักษะและแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง อันได้แก่ การประเมินลักษณะอาการ การค้นหาและคัดกรอง การดูแลเบื้องต้นหรือการดูแลควบคู่กับแผนการรักษาของแพทย์ การประเมินภาวะแทรกซ้อน และการป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ
คู่มือ “สูตรคลายซึมเศร้า” เล่มนี้ประกอบด้วยตัวอย่างกิจกรรมซึ่งคัดเลือกมาแล้วว่าเหมาะสมที่ผู้ดูแลผู้สูงอายุจะนำไปใช้ดูแลผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะมีภาวะพึ่งพิงหรือพิการ โดยประมวลความรู้และถอดบทเรียนจากประสบการณ์ของผู้ดูแล รวมถึงบุคลากรจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงหรือพิการทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ จิตแพทย์ พยาบาล นักกิจกรรมบำบัด นักจิตวิทยา นักพฤฒาวิทยา เภสัชกร ผู้บริบาลชุมชนและญาติของผู้สูงอายุ เจ้าหน้าที่ในชุมชนเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานสาธารณสุข และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตอื่นๆ รวมถึงตัวแทนจากองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร และนักวิชาการอาวุโสด้านสุขภาพจิตผู้สูงอายุ โดยมีการจัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไม่ต่ำกว่า 12 ครั้ง ทั้งยังจัดประชุมให้ผู้ดูแลและญาติพิจารณาเนื้อหาในคู่มืออีกไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง
ในหนังสือ “สูตรคลายซึมเศร้า” เล่มนี้นั้นได้รวบรวมเนื้อหาสำคัญอันจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้สูงวัยและผู้ดูแล เพื่อป้องกันไม่ให้คนที่ท่านรักตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าโดยครอบคลุมหัวข้อต่างๆ ดังนี้ ภาวะซึมเศร้าคืออะไร ภาวะซึมเศร้าต่างจากภาวะเศร้าปรกติอย่างไร แบบวัดความเศร้าในผู้สูงอายุ วิธีปฏิบัติเมื่อผู้สูงวัยมีภาวะซึมเศร้า อาหารที่ส่งผลต่ออารมณ์ กิจกรรมป้องกันภาวะซึมเศร้าท่านสามารถดาวน์โหลดคู่มือได้ที่ลิงค์นี้ https://thaitgri.org/?p=37794