ยกระดับโรงเรียนผู้สูงอายุเตรียมพร้อมรับสังคมชรา

ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาแล้ว และจะกำลังจะกลายเป็นสังคมวัยชราโดยสมบูรณ์ในปี 2567 จากตัวเลขวิเคราะห์ของนักวิชาการประเทศไทย จะมีผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป ประมาณ 20% หรือประมาณ 13 ล้านคน จากประชากรไทย 68 ล้านคน ดังนั้นหลายหน่วยงานต่างตื่นตัวและเตรียมพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และหนึ่งในทางแก้ปัญหาคือ “โรงเรียนผู้สูงอายุ”

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) จัดเวทีแลกเปลี่ยน “การขับเคลื่อนผลักดันนโยบายโรงเรียนผู้สูงอายุสู่ชุมชน” โดย พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) กล่าวว่า มส.ผส.ร่วมกับ สสส.จัดเวทีสาธารณะเพื่อนำเสนอผลการศึกษาการถอดบทเรียนการจัดการโรงเรียนผู้สูงอายุที่ดี โดยเฉพาะในประเด็นการจัดกิจกรรมเพื่อถ่ายทอดความรู้ ตามแนวคิดการศึกษานอกโรงเรียนเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผู้สูงอายุให้เป็นผู้สูงอายุที่มีศักยภาพ หรือมีภาวะพฤฒิพลัง (Active Aging) เพื่อเสริมสร้างการเตรียมความพร้อมสำหรับสังคมสูงอายุของประเทศ ซึ่งเป็นการพัฒนาคลอบคลุมบริบททั้งกาย จิต เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ค่านิยม ปัญญา และความสุข อย่างไรก็ตาม พบว่าปัจจุบันมีโรงเรียนผู้สูงอายุจำนวนมากทั่วประเทศที่มีความหลากหลายทั้งสถานที่ รูปแบบ และวิธีการ ขึ้นอยู่กับบริบทพื้นที่และความต้องการของผู้สูงอายุในแต่และแห่ง

“ดังนั้น มส.ผส.จึงได้ทำการศึกษาเพื่อหาต้นแบบในการจัดตั้งหรือพัฒนาโรงเรียนผู้สูงอายุที่ดีต่อไปในอนาคต พร้อมเตรียมที่จะเสนอการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุต่อคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในเร็วๆ นี้ โดยเสนอให้เป็นภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการรับผิดชอบบริหารจัดการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุในพื้นที่ของตนเอง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ” พญ.ลัดดากล่าว

ด้าน ศ.ศศิพัฒน์ ยอดเพชร นักวิจัย คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากการศึกษา “การถอดบทเรียนตัวอย่างที่ดีของโรงเรียนผู้สูงอายุที่มีกิจกรรมถ่ายทอดความรู้” ในโรงเรียนผู้สูงอายุ 9 แห่ง พบว่า โรงเรียนผู้สูงอายุจากเดิมที่เป็นกิจกรรมที่หน่วยงานหรือชุมชนจัดทำขึ้น เพื่อให้ผู้สูงอายุออกจากบ้านมาพบปะผู้อื่น คลายเหงา สร้างความรื่นเริง สร้างความสุขนั้น ควรเพิ่มมิติในการจัดการศึกษาเพื่อเติมความรู้ด้านต่างๆ แก่ผู้สูงอายุ เช่น การดูแลสุขภาพ โภชนาการ การรับมือกับสังคมที่เปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีและการสื่อสาร และการเรียนรู้ตามอัธยาศัย เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมที่เปลี่ยนแปลงได้ ผ่านเทคนิคการสอนวิธีการต่างๆ โดยใช้เวลาในการเรียนรู้อย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อ  สัปดาห์ ต่อเนื่องกัน 4-8 เดือน ขณะเดียวกันหน่วยงานที่จะจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุควรทำความเข้าใจกับจุดมุ่งหมายและบริการของโรงเรียนผู้สูงอายุ ศึกษาความต้องการเรียนรู้ของผู้สูงอายุในชุมชน โดยพิจารณาองค์ประกอบที่สำคัญ เช่น ที่ตั้งโรงเรียน ห้องเรียนที่เหมาะสม การเดินทางไปโรงเรียนด้วยความสะดวก ปลอดภัย

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สสส. กล่าวว่า สสส.ให้ความสำคัญและสนับสนุนโรงเรียนผู้สูงอายุ ภายใต้แนวคิดการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง ลดการพึ่งพิง โดยเสริมการทำงานของภาครัฐและตอบโจทย์นโยบายประชารัฐเพื่อสังคม ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล โดยเริ่มจากกระบวนการศึกษา ถอดบทเรียน แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากโรงเรียนผู้สูงอายุที่มีการดำเนินงานประสบความสำเร็จในหลายพื้นที่ และนำข้อค้นพบความสำเร็จมาสู่การพัฒนาดำเนินงานต่อยอด เพื่อพัฒนาเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานสำหรับโรงเรียนผู้สูงอายุที่เหมาะสม สามารถนำไปต่อยอดขยายผลในพื้นที่ต่างๆ ได้สะดวก และมีโอกาสประสบความสำเร็จ ทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นพลังของครอบครัว ชุมชนและสังคมอย่างต่อเนื่อง และเกิดการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิตอย่างแท้จริง

สำหรับ “โรงเรียนผู้สูงอายุ” คือการจัดรูปแบบให้มีการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การจัดการศึกษา การพัฒนาทักษะเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และกิจกรรมของโรงเรียนผู้สูงอายุจะเป็นเรื่องที่ผู้สูงอายุสนใจและมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิต ช่วยเพิ่มพูนความรู้ ทักษะชีวิตที่จำเป็น โดยมีวิทยากรจิตอาสาหรือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ที่ผู้สูงอายุจะได้แสดงศักยภาพ โดยการถ่ายทอดภูมิความรู้ ประสบการณ์ที่สั่งสมแก่บุคคลอื่น เพื่อสืบสานภูมิปัญญาให้คงคุณค่าคู่กับชุมชน โดยโรงเรียนผู้สูงอายุหลายแห่งตั้งขึ้นโดยใช้อาคารเรียนเก่าของโรงเรียนที่เลิกกิจการ หรือตั้งอยู่ในชมรมผู้สูงอายุ ภายในวัด และภายพื้นที่ของชุมชน เป็นต้น

ขณะที่ความเห็นของผู้เกี่ยวข้องในโรงเรียนผู้สูงอายุต่างยืนยันว่า มีความจำเป็นที่สังคมไทยต้องให้ความสำคัญกับสิ่งที่กำลังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของชาติในเวลานี้ โดยนายขยัน วิพรหมชัย นายกเทศมนตรีตำบลอุโมงค์ อ.เมือง จ.ลำพูน ได้เล่าประสบการณ์และความสำคัญของโรงเรียนผู้สูงอายุว่า “โรงเรียนผู้สูงอายุดอกซอมพอ” จัดตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2556 วิชาที่เปิดสอนเรื่องดูแลสุขภาพ และจัดกิจกรรมทัศนศึกษานอกสถานที่ และทุกวันเสาร์ นักเรียนในโรงเรียนผู้สูงอายุจะรวมตัวกันออกเยี่ยมผู้สูงอายุที่ติดบ้านติดเตียงเพื่อสร้างกำลังใจ และยังสร้างความรู้สึกว่าหากไม่รู้จักดูแลสุขภาพ ไม่ออกกำลังกาย จะสร้างภาระให้กับลูกหลาน

ด้านนายวันชัย นารีรักษ์ นายกเทศมนตรีเมืองวังน้ำเย็น อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว กล่าวว่า การจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุในพื้นที่วังน้ำเย็นจะเน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต ลดการพึ่งพาด้านจิตใจ ลดความเหงา ให้มีโอกาสสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันด้านจิตปัญญา เช่น การรวมกลุ่มไปวัด เรียนวิชาคอมพิวเตอร์ เปตอง วารีบำบัด ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของผู้สูงอายุ

ขณะที่นายวิศาล วิมลศิลป์ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย เล่าว่า ในพื้นที่มีผู้สูงอายุต้องรับภาระดูแลลูกหลาน เพราะคนหนุ่มสาวไปทำงานในเมือง ซึ่งก่อนหน้ามีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมในพื้นที่ แต่ผู้สูงอายุไม่สนใจ เมื่อปรับมาเป็นรูปแบบของโรงเรียน มีหลักสูตรทำให้เกิดความต่อเนื่องในการทำกิจกรรม ทำให้ผู้สูงอายุได้ฝึกสมอง โหมดการปรับตัวสู่สังคม

ผู้สูงอายุของสังคมไทย เครือข่ายประชาชนหันมาทำงานเชิงรุกเรื่องการตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ โรงเรียนผู้สูงอายุจึงเป็นหนทางสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาสังคมวัยชรา และทำให้คุณปู่คุณย่าและคุณตาคุณยายใช้ชีวิตอย่างมีความสุข พึ่งพาตัวเองได้ และไม่ต้องรอความช่วยเหลือ…และเป็นสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นทุกหนแห่งในชุมชน

ขอขอบคุณเนื้อหาข่าวจากเว็บไซด์ไทยโพสต์