หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ อ้างถึงงาน “ไฟเซอร์รู้-เฒ่า (เท่า) ทัน-สุข” จ.อุบลราชธานี ซึ่งแพทย์หญิงภาพันธ์ ไทยพิสุทธิกุล จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ หรือโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุว่า แม้จะเป็นอาการที่เกิดขึ้นมากในผู้สูงอายุ แต่มีวิธีการป้องกันได้ด้วยการหมั่นออกกำลังกายซึ่งจะกระตุ้นเกิดฮอร์โมนแห่งความสุข ช่วยคลายเครียด และทำให้สมองปลอดโปร่ง นอกจากนี้การเล่นเกมบวกเลขง่ายๆ เกมจับคู่ ก็เป็นอีกวิธีที่ทำให้เกิดการบริหารสมอง แน่นอนว่าทั้งหมดนั้นต้องเป็นไปควบคู่กับการรับประทานอาหารที่ดี ครบ 5 หมู่ โดยไม่ต้องกินวิตามินเสริมแต่อย่างใด
สำหรับอาการอัลไซเมอร์นั้น ทำให้ผู้ป่วยมีปัญหากับความจำระยะสั้น หลงลืมทักษะในการดูแลตนเอง ลืมวิธีการตักข้าว พูดซ้ำในเรื่องเดิม บางคราวนึกคำพูดไม่ออก หลงทาง มีปัญหากับการเข้าสังคม รวมทั้งอาจขาดการยับยั้งชั่งใจ เช่น สามารถปัสสาวะในที่สาธารณะ ทำร้ายผู้อื่น หรือบางครั้งก็มีอาการนิ่งเฉยผิดปกติ ขณะที่ผู้ป่วยบางรายมีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน ตื่นบ่อย อยากเดินออกไปนอกบ้าน ลูกหลานจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องและปลอดภัยกับผู้สูงอายุที่มีอาการอัลไซเมอร์ โดยไม่วางสิ่งของที่เป็นอันตรายไว้กับพื้น บางครั้งอาการดังกล่าวก็ทำให้มีความต้องการทางเพศ ซึ่งบุตรหลานหรือผู้ดูแลควรพาไปพบแพทย์เพื่อจัดยาควบคุมอารมณ์ทางเพศให้กับผู้ป่วยด้วย
สำหรับสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ หรือ โรคสมองเสื่อม เกิดขึ้นได้หลายปัจจัย ทั้งจากไทรอยด์เป็นพิษ ผู้สูงอายุที่ป่วยโรคหลอดสมอง หรือผู้ที่เป็นโรคพาร์กินสันราว 5-6 ปีแล้วก็จะทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตามใช่ว่าผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมจะดูแลตัวเองไม่ได้เสมอไป บางครั้งผู้ป่วยที่ยังสามารถคุยกับลูกหลานได้จะยังมีทักษะการดูแลชีวิตง่ายๆ เช่น การกินยาให้ถูกต้อง ตรงเวลา ถอนเงินที่ธนาคาร อาบน้ำ แต่งตัว ผู้ป่วยก็สามารถทำได้เอง