เปิดหลัก5อ. ผู้สูงวัยห่างไกลโควิด-19

แม้ผู้ป่วยโควิด-19ในไทยจะอยู่ในวัยทำงาน  แต่กลุ่มที่มีการเสียชีวิตมากที่สุด คือ ผู้สูงอายุ

โดยอายุที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป เสียชีวิตร้อยละ  12 จากจำนวนผู้ป่วยสูงอายุทั้งหมด

และเมื่ออายุมากขึ้น จำนวนผู้เสียชีวิตก็จะมาขึ้นตาม โดยผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอายุระหว่าง 80-89 ปี จะมีอัตราการเสียชีวิตถึงร้อยละ 24

นั่นหมายความว่า คนที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป 4 คน จะมี 1 คนที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19

ดังนั้นจึงเป็นกลุ่มสำคัญที่จะต้องช่วยกันเฝ้าระวังไม่ให้มีการติดเชื้อเกิดขึ้น โดยกระทรวงสาธารณสุขยึดหลัก “5อ.” ประกอบด้วย

“อ.อาหาร” ต้องรับประทานอาหารที่ครบ 5 หมู่ สะอาด ปรุงสุกใหม่ เลี่ยงอาหารที่มีรสหวานหรือเค็ม เน้นอาหารที่โปรตีนสูง เสริมภูมิคุ้มกัน และรักษาสุขภาพในช่องปาก

“อ.อารมณ์”  ต้องพยายามอย่าให้เครียด อย่ารับข่าวสารมากเกินไป ปรึกษาผู้รู้ใจ ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ ใช้เทคนิคจัดการความเครียด หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา ยาเสพติด โทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต

“อ.ออกกำลังกาย” ออกกำลังกายในบ้านอย่างสม่ำเสมอ ตามสภาพร่างกายเท่าที่ผู้สูงอายุจะทำได้ เช่น   โยคะ แกว่งแขน หรือ การเดินซอยเท้าอยู่กับที่ ช่วยให้ผู้สูงอายุแข็งแรงได้

“อ.เอนกายพักผ่อน” ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ นอนอย่างน้อย 7-9 ชั่วโมงต่อวัน

“อ.ออกห่างสังคมนอกบ้าน”  ผู้สูงอายุ และ ผู้ดูแลควรเก็บตัวอยู่ในบ้านให้มากที่สุด เว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร ใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ล้างมือด้วยสบู่ หรือ เจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ  แต่หากมีความจำเป็นต้องออกนอกบ้าน  ลูกหลานต้องเตรียมหน้ากากผ้า หรือ หน้ากากอนามัย โดยสวมไว้ตลอดเวลา  และต้องมีเจลล้างมือเวลาไปทำกิจกรรมที่บ้าน

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์  จำแนกผู้สูงอายุออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองได้ดี  ซึ่งผู้สูงอายุกลุ่มนี้มักจะออกไปมีปฏิสัมพันธ์นอกบ้าน ดังนั้นช่วงเวลานี้จะต้องอยู่บ้านมากขึ้น อีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มติดบ้าน  ซึ่งค่อนข้างที่จะปลอดภัย แต่จะต้องระวังว่าคนในครอบครัวจะนำเชื้อจากภายนอกเข้ามาติดผู้สูงอายุได้

และกลุ่มสุดท้าย คือกลุ่มติดเตียง  ซึ่งมีทั้งที่อยู่บ้าน และ อยู่ในสถานพยาบาล โดยกลุ่มที่อยู่ที่บ้านนั้น จะต้องให้ความสำคัญกับ คนดูแลใกล้ชิด ซึ่งจะต้องระมัดระวังการนำเชื้อเข้าไปติด หากจ้างผู้ดูแลจากภายนอกจะต้อง มีการวัดไข้ และให้ผู้ดูแลล้างมือ ฟอกสบู่ให้เรียบร้อยก่อนเข้าบ้าน  ส่วนกลุ่มติดตียงที่อยู่ในสถานดูแลของภาครัฐและเอกชน จะต้องเน้นการคัดกรองผู้ที่มาเยี่ยม และต้องล้างมือก่อนสัมผัสตัวผู้สูงอายุทุกครั้ง

นพ.สมศักดิ์ ยังแนะนำให้มีการสังเกตอาการของผู้สูงอายุด้วยว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เพราะในบางครั้ง ผู้สูงอายุติดเชื้ออาการจะไม่ตรงไปตรงมา ดังนั้นควรสังเกตว่าผู้สูงอายุมีอาการ หายใจเร็ว หอบ อ่อนเพลีย เบื่ออาหารหรือรับอาหารทางสายยางไม่ได้  ซึมสับสนเฉียบพลัน ความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองลดลงอย่างรวดเร็วหรือไม่

หากพบอาการเหล่านี้ควรรีบปรึกษาแพทย์ โดยสามารถโทรปรึกษาได้ที่โรงพยาบาลที่ดูแลผู้สูงอายุเป็นประจำ หรือ สายด่วนของกรมการแพทย์ 1668 และ สายด่วนศูนย์นเรนทร 1669

สำหรับผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ที่ต้องพบแพทย์ และรับยาเป็นประจำนั้น อธิบดีกรมการแพทย์ แนะนำว่า ผู้สูงอายุในกลุ่มที่อาการทั่วไปดี อาการคงที่  ให้ ปรึกษาโรงพยาบาลส่งยาถึงบ้าน หรือรับยาร้านใกล้บ้าน เลื่อนนัดให้นานขึ้น หรือให้คำปรึกษาทางไกล

ขณะที่ผู้สูงอายุที่มีอาการแย่ลง ให้ตรวจตามนัด โดยแพทย์อาจนัดในช่วงเวลาที่คนไม่หนาแน่  หรือคุยผ่านวีดีโอคอล ให้คำปรึกษาทางไกลได้  หรือโรงพยาบาลอาจจัดทีมแพทย์ พยาบาล หรือ ให้อสม.เข้าไปดูที่บ้าน ส่วนผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารับบริการได้ตามปกติ แต่จะมีการคัดกรองผู้ป่วยที่เข้มงวด

ขอบคุณที่มาจากกรมการแพทย์