ผลการวิจัยอัตราการติดเชื้อและความรุนแรงของโรคโควิด-19 ทั้งจากองค์การอนามัยโลก และกระทรวงสาธารณสุขของนานาประเทศไม่ว่าจะเป็น จีน อิตาลี หรือ ในไทยเอง พบข้อมูลเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ว่า ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่สุดที่จะติดเชื้อรุนแรงและเสียชีวิตมากที่สุด
โดยประชากรผู้สูงอายุของประเทศไทย ตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป มีจำนวน 4,764,684 คน เป็นเพศชาย 1,804,914 คน คิดเป็นร้อยละ 38 และเพศหญิง 2,959,770 คน คิดเป็นร้อยละ 62
เชื้อโควิด-19 สามารถแพร่กระจายโดย “ละอองฝอย” จากเสมหะ น้ำมูก และน้ำลาย ซึ่งจะเป็นสื่อกลางในการเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ผ่านดวงตา จมูก และปาก โดยผ่านการสัมผัสจากมือเราเป็นส่วนใหญ่ เช่น การใช้มือปิดปากเวลาไอ หรือ ปิดจมูกเวลาจาม เชื้อโรคก็จะติดที่มือเรา และเมื่อเรานำไปจับสิ่งของ เชื้อจะติดที่สิ่งของไปด้วย และเมื่อมีคนอื่นมาจับสิ่งของชิ้นนั้น มือของคนๆนั้นจะปนเปื้อนเชื้อโรค และหากนำมือนั้นมาลูบหน้าโดนจมูก ปาก หรือ ตา รวมไปถึงนำไปหยิบของรับประทาน ร่างกายก็จะรับเชื้อเข้าไปได้
ดังนั้นวิธีการที่จะป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ง่ายที่สุด และมีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด คือ การล้างมือด้วยสบู่เป็นประจำ ซึ่งการล้างมือที่มีประสิทธิภาพคือการล้างมืออย่างถูกวิธี
ในเว็ปไซต์ของยูนิเซฟได้แนะนำวิธีการล้างมืออย่างถูกวิธี มี 5 ขั้นคือ คือ
1. ล้างมือให้เปียกด้วยน้ำ
2.ถูมือด้วยสบู่ในปริมาณที่มากเพียงพอ
3.ถูมือให้ทั่วรวมทั้งหลังมือ ซอกนิ้ว หัวแม่มือ และใต้เล็บ อย่างน้อย 20 วินาที หรือ ร้องเพลงแฮปปี้เบิร์ธเดย์ หรือเพลงช้างไปด้วย 2 รอบนั่นเอง
4.ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำเปล่าอีกรอบ
5.เช็คมือให้แห้งด้วยผ้าสะอาด หรือ กระดาษทิชชู่
โดยทุกคนควรจะล้างมือ เมื่อ สั่งน้ำมูก ไอ หรือ จาม, หลังจากไปที่สาธารณะต่างๆ ,หลังจากสัมผัสกับพื้นผิดหรือวัสดุต่างๆนอกบ้าน รวมถึงธนบัตร และ เหรียญ, ก่อน ระหว่าง และหลังดูแลผู้ป่วย , ก่อนและหลังรับประทานอาหาร , หลังจากใช้ห้องน้ำ ,หลังจากทิ้งขยะ ,หลังจากสัมผัสสัตว์เลี้ยงและสิ่งมีชีวิตต่างๆ ,หลังเปลี่ยนผ้าอ้อม หรือ พาเด็กๆเข้าห้องน้ำ ,และเมื่อเห็นว่ามือตัวเองเปื้อนสิ่งสกปรก
แต่หากผู้สูงอายุไปในสถานที่ที่ไม่มีน้ำและสบู่ ควรจะใช้แอลกอฮอล์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบอย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปถูกมือแทน ซึ่งสามารถฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้ แต่เจลแอลกอฮอล์นั้นไม่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ เช่น โนโรไวรัส และ ไวรัสโรต้าได้