ผู้สูงวัยต้องไม่ต้องเป็นเหยื่อข่าวปลอม! เปิดตัวเว็บไซต์ “Cofact” เช็คข่าวจริง-ข่าวลวง ในสถานการณ์โควิด-19

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือว่าเป็นโรคระบาดที่อุบัติขึ้นใหม่บนโลกใบนี้ และในภาวะที่ยังไม่มียา ไม่มีวัคซีนที่จะใช้รักษา หรือ ป้องกันโดยตรง ทำให้ประชาชนเกิดความหวั่นวิตกกับการแพร่ระบาดของไวรัสชนิดนี้เป็นอย่างมาก

ในขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน  สาธารณสุข  รวมถึงภาคประชาสังคม พยายามให้ความรู้ในการป้องกันตัวเองและแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อในในวงกว้าง ผ่านข้อมูลข่าวสารในช่องทางต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนเพื่อไม่ให้เกิดการตื่นตระหนกจนเกิดไปนั้น กลับมีผู้ไม่หวังดีสร้าง “ข่าวปลอม” ขึ้นมา ซ้ำเติมสถานการณ์ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ที่ไม่รู้เท่าทัน และมีการส่งต่อข่าวปลอมออกไปเป็นวงกว้าง

อย่างไรก็ตามในขณะนี้มี โครงการ ““Cofact”” หรือ Collaborative Fact Checking  ที่เป็นความร่วมมือ ระหว่างภาคีภาคประชาสังคมหลากหลายองค์กรประกอบด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, Center for Humanitarian Dialogue (HD), Friedrich Naumann Foundation for Freedom (FNF), ดำเนินการโดย ChangeFusion และ OpenDream มีภาคีผู้ด้านเนื้อหาอย่าง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย)  เพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชนสามารถพิสูจน์ได้ว่าข่าวที่เห็นเป็นข่าวปลอมหรือไม่

โดย“Cofact”  เป็นการผสานการผลักดันการใช้เทคโนโลยีของภาคพลเมือง กับงานเชิงข่าวด้านวารสารศาสตร์ โดยมีกองบรรณาธิการร่วมกับอาสาสมัครในการกรองข่าว และ เปิดพื้นที่ให้ทุกคนมาร่วมแลกเปลี่ยนโต้แย้งข้อเท็จจริงและความเห็นได้ และมีโปรแกรมการพูดคุยอัตโนมัติที่เปิดให้ทุกคนมาส่งข่าวให้ทีมกลั่นกรองได้อีกด้วย ผ่านเว็บไซต์ Cofact.org

สำหรับเว็บไซต์ดังกล่าว จะมีช่องให้ผู้ใช้งานกรอกข้อความข่าวที่ต้องการค้นหา หรือ สามารถเลือกหัวข้อหมวดหมู่ของข่าวได้ เช่น โควิด ,มะเร็ง ,ยาสมุนไพร  ซึ่งระบบดังกล่าวจะรวบรวมคำถามและคำตอบเกี่ยวกับข่าวที่ประชาชนสนใจเอาไว้ นอกจากนี้ยังมีการรายงานเนื้อหาข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนรายวัน ว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวจริงหรือข่าวปลอมด้วย

ขณะเดียวกันยังสามารถเพิ่มเป็นเพื่อนใน แอพพลิเคชั่น LINE @cofact ได้อีกด้วย โดยสามารถส่งข้อความที่สงสัยลงในห้องแชทได้ โดยจะมีแชทบอทดึงข้อมูลที่เคยมีการกล่าวถึงผ่านระบบออกมาให้ตรวจสอบ

นอกจาก “Cofact” แล้ว ยังมีอีกหนึ่งช่องทางที่จะสามารถตรวจสอบข่าวว่าเป็นข่าวปลอมหรือไม่ ผ่านเว็บไซต์ Thaitgri.org ของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ ซึ่งจะรวบรวมข่าวสารความรู้ การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผู้สูงอายุ รวมถึงการเกาะติดข่าวสารและข้อมูลในการดูแลตัวเองของผู้สูงอายุในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19ด้วย โดยผู้ใช้งานสามารถเข้าไปที่เว็บไซต์  Thaitgri.org จากนั้นคลิกที่สัญลักษณ์ “ค้นหา” และพิมพ์ข้อความที่ต้องการสืบค้นลงไป ซึ่งจะสามารถตรวจสอบได้จากข่าวหรือบทความที่เว็บไซต์เคยแจ้งเตือนเกี่ยวกับข่าวปลอมก่อนหน้านี้

ประชาชนทั่วไปสามารถร่วมกันหยุดข่าวปลอมด้วย การไม่หลงเชื่อ และ ไม่ส่งต่อ จนกว่าจะมีการยืนยันที่แน่ชัดจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้