เปิดเมนูแนะนำอาหารพื้นบ้านต้านโควิด-19 แนะ ผู้สูงอายุ กินอาหารให้ถูกหลักโภชนาการตามช่วงวัย
นอกจากการกินร้อน ช้อนส่วนตัว และล้างมือ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว
การรับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการให้เหมาะสมกับช่วงวัย และ การกินอาการที่สร้างระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้สูงวัยมีสุขภาพที่แข็งแรง
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย แนะนำให้รับประทานอาหารที่มี วิตามีนซี วิตามินอี วิตามินดี ซีลีเนียม และสังกะสี เพื่อเพิ่มสารอาหารในการสร้างภูมิคุ้มกันในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19นี้
โดย“วิตามินซี” ช่วยในกระบวนการทำงานของเม็ดเลือดขาวในการขจัดเชื้อโรค เสริมระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยต้านภูมิแพ้ ช่วยลดการระคายเคืองเยื่อบุทางเดินหายใจ ลดการจาม น้ำมูกไหล ซึ่งร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ววิตามินซีได้เอง จำเป็นต้องได้รับจากอาหารซึ่งแหล่งของวิตามินซี เช่น ฝรั่ง มะขามป้อม มะขามเทศ เงาะพริกหวานแดง พริกเขียวหวาน ผักคะน้า บรอกโคลี และมะระขี้นก
ส่วน“วิตามินอี” เป็นสารต้านอนุมูลอิสระและเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ทำหน้าที่ขจัดอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาต่างๆในร่างกาย และป้องกันไม่ให้กรดไขมันไม่อิ่มตัว และส่วนประกอบเยื่อหุ้มเซลล์ของอวัยวะในร่างกายถูกทำลาย โดยวิตามินอีจะอยู่ใน น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันดอกคําฝอย น้ำมันปาล์ม น้ำมันรำข้าว ถั่วลิสง และไข่ไก่
ขณะที่“วิตามินดี” มีความจำเป็นสำหรับการทำงานที่เหมาะสมของระบบภูมิคุ้มกัน โดยวิตามินดีสามารถได้จากแสงแดด หรือ อาหาร เช่น ปลาตะเพียน เห็ดหอม ปลาทับทิม ปลาแซลมอน ปลานิล ไข่แดง โดยเฉพาะปลาทับทิมเป็นแหล่งของวิตามินดีที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
“ซีลีเนียม” คือ สารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่ง ที่มีหน้าที่กำจัดอนุมูลอิสระต่างๆที่ทำอันตรายต่อเซลล์ หรือเปลี่ยนแปลงเซลล์ปกติให้กลายเป็นเซลล์มะเร็ง ทั้งยังช่วยเสริมการทำงานของสารต้านอนุมูลอิสระชนิดอื่นๆเช่น วิตามินซี วิตามินอี อีกทั้งช่วยควบคุมระดับฮอร์โมนไทรอยด์ให้ทำงานได้ปกติ โดยร่างกายต้องการซิลิเนียมทุกวันในปริมาณน้อยๆแต่ขาดไม่ได้เพราะถ้าขาดซีลีเนียมจะติดเชื้อได้ง่าย โดยเราสามารถหาซิลิเนียมได้ใจ ปลาทูสด ไข่ ปลาจาระเม็ดสด และเนื้อปูต้มสุก
ขณะที่“สังกะสี” เป็นแร่ธาตุที่ควบคุมการทำงานของเอนไซม์ที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรค และสร้างการเจริญเติบโต โดยแหล่งของสังกะสี คือ เนื้อสัตว์ เครื่องใน หอยนางรม ไข่ นม และปลา
นอกจากนี้ยังมีพืชผักสมุนไพรที่หาซื้อได้ง่าย เช่น กะเพรา และพริกขี้หนู ที่จะเสริมภูมิต้านทานได้ โดยกะเพราช่วยขับลม ลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ต้านการอักเสบและลดปวด ทั้งยังต้านเชื้อแบคทีเรีย เช่น แบคทีเรียที่ทําให้เกิดสิว ก่อโรคในช่องปาก สามารถลดน้ำตาลในเส้นเลือดและลดความเสี่ยงการเกิดเซลล์มะเร็งอีกด้วย
ส่วน “พริก” มีคุณสมบัติกระตุ้นความอยากอาหารทำให้รสชาติอาหารดีขึ้น ลดระดับน้ำตาล-ไขมันในเลือด และช่วยในการเผาผลาญพลังงานมีวิตามินซีสูง เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันและบำรุงสายตา
สำนักโภชนาการ กรมอนามัย ยังจัดทำเมนูตัวอย่างที่ แนะนำให้คนทุกช่วงวัยรับประทานในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19ระบาด หลายรายการ ไม่ว่าจะเป็น แกงเหลืองมะละกอปลานิล ผัดมะระขี้นกใส่ไข่ แกงเลียงผักรวม และปลาทูทอดขมิ้น
ทุกเมนูล้วนแล้วแต่ใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่น สามารถทำได้ง่าย อีกทั้งยังเต็มไปด้วยคุณค่าทางอาหารอีกด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจากกรมอนามัย