แจกสูตรอาหารสมุนไพรเกราะคุ้มกัน “ผู้สูงวัย” จากโควิด-19

เปิดตำราดูแลสุขภาพองค์รวม “อาหารดีมีประโยชน์” เกราะคุ้มกัน “ผู้สูงวัย” จากโควิด-19 

อย่างน้อย 1 ปี คือระยะเวลาที่คาดการณ์กันว่าจะสามารถผลิตวัคซีนรักษาและป้องกันโรคโควิด-19 ได้

ในห้วงเวลาที่ยังไม่มีวัคซีนเฉพาะโรคนั้น “การดูแลสุขภาพองค์รวม” เป็นหลักการที่ได้รับการยอมรับเป็นแนวปฏิบัติทั่วโลก

โดยการดูแลสุขภาพองค์รวม ประกอบด้วย การกินอาหารที่สะอาด มีสารอาหารครบถ้วน เน้นพืชผักในสัดส่วนที่สูงกว่าอาหารอื่น การออกกำลังกาย และพักผ่อนอย่างเพียงพอ รวมถึงเลิกพฤติกรรมเสี่ยง ทั้งสูบบุหรี่และดื่มสุรา ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นเกราะคุ้มกันให้พ้นจากการคุกคามของไวรัสชนิดนี้ โดยเฉพาะ “ผู้สูงวัย” ที่ต้องการได้รับการดูแลเป็นพิเศษในสถานการณ์เช่นนี้

โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้รวบรวม “อาหารสมุนไพรเสริมภูมิคุ้มกันในภาวะที่มีการระบาดของโควิด-19” ขึ้น  โดยงานวิจัยพบว่าการเสริมวิตามินบางชนิดจะมีส่วนช่วยในการลดอัตราการติดเชื้อในทางเดินหายใจ ลดความรุนแรงและระยะเวลาของการเจ็บป่วย เช่น  “ธาตุสังกะสี” ​มีส่วนช่วยในการลดการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนลง 35 เปอร์เซ็นต์ และช่วยลดระยะเวลาการป่วยได้ ทำให้หายป่วยเร็ว​ขึ้น

“วิตามินซี”  มีบทบาทในร่างกายหลายอย่าง ตั้งแต่การต้านอนุมูลอิสระ การลดการอักเสบ การซ่อมแซมเซลล์ที่เสียหายจากการติดเชื้อ​ และ “วิตามินดี”  ช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันลงประมาณ 12 – 75 เปอร์เซ็นต์​

อย่างไรก็ตามการเสริมสารอาหารประเภทวิตามินในรูปแบบของผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปขนาดสูงนั้น ควรทำในกรณีที่ได้รับการวินิจฉัยว่าขาดสารอาหารนั้นๆเท่านั้น เพราะการได้รับสารอาหารหรือวิตามินมากเกินไปอาจทำให้ผลข้างเคียงได้

นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโภชนาการทั่วโลก ได้ให้คำแนะนำในการบริโภคอาหารบางประเภทในสัดส่วนที่มากขึ้นในสถานการณ์การแพร่ระบาดในขณะนี้ ดังนี้

“นมและผลิตภัณฑ์จากนม”​ มีประโยชน์ในการช่วยปรับให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น

“อาหารที่มีโปรตีนสูง” โปรตีนเป็นส่วนประกอบสำคัญของระบบภูมิคุ้มกัน การบริโภคอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพดีเช่น ไข่ ปลา และเนื้อแดง เป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน

“อาหารที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ” เช่น ผัก ผลไม้สด ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ กระเทียม หัวหอม

“อาหารที่มีวิตามินซีสูง” เช่น ส้ม มะขามป้อม กีวี บรอกโคลี แคนตาลูป กะหล่ำปลี และกะหล่ำดอก

“อาหารที่มีวิตามินเอสูง” เช่น ตับวัว มันหวาน ผักโขม แครอท แคนตาลูป พริก มะม่วง ไข่ และถั่วดำ

“อาหารที่มีวิตามินซีสูง” เช่น เมล็ดทานตะวัน อัลมอนด์ เนยถั่ว ถั่วลิสง ผักโขม จมูกข้าว น้ำมันทานตะวัน น้ำมันดอกคำฝอย มะเขือเทศ

“อาหารต้านการอักเสบ”​ เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางยา มีคุณค่าทางอาหารสูงที่เรียกว่า Super food   เช่นขมิ้นชัน องุ่นดำ และผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ มะเขือเทศ น้ำมันมะกอก ถั่ว ผักที่มีสีเขียวเข้ม มันหวาน ส้ม ชาเขียว ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี น้ำผึ้ง​ และปลา

“อาหารที่มีวิตามินดีสูง” จากการศึกษาพบว่าการเสริมวิตามินดี สามารถลดความเสี่ยงของไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้​  อาหารที่มีวิตามินดี เช่น ทูน่า ปลา เห็ด นม ไข่ โยเกิร์ต และธัญพืชต่างๆ

“อาหารที่มีแร่ธาตุสังกะสีสูง” เช่น เนื้อวัวย่าง ขนมพายเนื้อ เนื้อหมูสันติดกระดูก ไก่ ถั่ว เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เมล็ดฟักทอง โยเกิร์ต ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ

“อาหารปรับอารมณ์” ซอสแอปเปิ้ล ขนมปังโฮลวีต กรีกโยเกิร์ตใส่ขิงและข้าวโอ๊ต ชาขิง ชาเปปเปอร์มินต์ ที่จะช่วยคลายกังวลความตึงเครียดทำให้อารมณ์ดี

“อาหารที่มีส่วนผสมของเครื่องเทศ” เพราะเครื่องเทศหลายชนิดมีงานวิจัยช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน เช่น พริกไทย ที่มีการศึกษาในอิตาลีว่าการบริโภคอาหารที่มีพริกไทยสัปดาห์ละ 4 วันจะช่วยลดอัตราการตาย และการศึกษาในจีนพบว่า การบริโภคมีความสัมพันธ์กับอัตราการตาย ผู้ที่บริโภคเครื่องเทศเกือบทุกวันจะมีอัตราการตายลดลง 14 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับผู้บริโภคเครื่องเทศน้อยกว่า 1 วันต่อสัปดาห์

“อาหารที่มีผลต่อจุลินทรีย์ดีในลำไส้” (โปรไบโอติกส์)  การบริโภคอาหารที่มีโปรไบโอติกส์ จะช่วยลดอัตราการติดเชื้อทางเดินหายใจลดลงได้

และแม้ว่าในอนาคตการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะผ่านพ้นไป แต่“ผู้สูงวัย” ยังสามารถยึดแนวทางการดูแลตัวเองแบบสุขภาพองค์รวมต่อไปได้ เพราะอาหารมีความสัมพันธ์กับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งผู้ที่ขาดสารอาหารมักมีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่ดีและเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย

 

ขอขอบคุณรูปและข้อมูลจากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

สามารถดาวน์โหลดคู่มือฉบับเต็มได้ที่ลิงค์ด้านล่างนี้

https://drive.google.com/file/d/1cSA0fWMrZP8I5hqCiFnE48tTDvYImoad/view