นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ห่วง “แรงงานสูงวัย” เข้าไม่ถึงโครงการเยียวยาพิษโควิด-19 เผยมีมากกว่า 88 เปอร์เซ็นต์เป็นแรงงานนอกระบบ
ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ ในห้วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงมีวัยแรงงานสูงอายุจำนวนมากได้รับผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจที่อาจถูกเลิกจ้าง และมีแนวโน้มว่าจะตกงานถาวร หากเทียบกับแรงงานกลุ่มอื่น
ในขณะที่มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ของกระทรวงการคลัง เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน กลุ่มแรงงานสูงวัยนี้ อาจเข้าไม่ถึงช่องทางการขอรับเงินเยียวยา ที่จะต้องใช้การกรอกข้อมูลผ่านระบบอิเลคทรอนิกส์
ในเรื่องนี้ “ดร.สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์” นักวิชาการอาวุโส ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เขียนคอลัมน์ในมติชนออนไลน์ ชื่อ “คนแก่มีสิทธิมั้ยคร้าบ” โดยระบุบางช่วงบางตอนเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ประเทศไทยเป็นสังคมสูงอายุ โดยมีผู้สูงอายุ 11.3 ล้านคน (ปี 2560) คิดเป็นร้อยละ 17 ของประชากร 67 ล้านคน และในผู้สูงอายุจำนวน 11.3 ล้านคนนี้ยังทำงานอยู่ 4 ล้านคน
แรงงานผู้สูงอายุ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มอายุ 60-69 ปี (ผู้สูงอายุวัยต้น)มีจำนวน 3.3 ล้านคน กลุ่มอายุ 70-79 ปี (ผู้สูงอายุวัยกลาง) 0.7 ล้านคน และ กลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไป (ผู้สูงอายุวัยปลาย) 0.1 ล้านคน จากประชากรผู้สูงอายุจำนวน 6.3 ล้านคน 34 ล้านคน และ 1.6 ล้านคน ในกลุ่มผู้สูงอายุวัยต้น วัยกลางและวัยปลายตามลำดับ
ในจำนวนแรงงานสูงอายุทั้งหมด ร้อยละ 88 เป็นแรงงานนอกระบบ (การสำรวจแรงงานนอกระบบ 2562)
หากแบ่งสาขาเศรษฐกิจ แรงงานสูงอายุร้อยละ 60 อยู่ภาคเกษตร ร้อยละ 30 อยู่ภาคการค้าและบริการ และ อีกร้อยละ 10 อยู่ภาคการผลิต
สำหรับสถานภาพการทำงานของผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ (ร้อยละ 63) เป็นผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้าง รองลงมา คือช่วยธุรกิจในครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้าง (ร้อยละ 19) เป็นลูกจ้างรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ร้อยละ 14 ผู้สูงอายุที่มีสถานภาพเป็นนายจ้าง มีเพียงร้อยละ 3.6
ในปี 2560 มีผู้สูงอายุที่ทำงาน อาศัยอยู่คนเดียวและเลี้ยงชีพด้วยตนเองถึงประมาณ 3 แสนคน
ถ้าดูจากอาชีพ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 56.5 (2.3 ล้านคน)เป็นผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือด้านเกษตรและประมง ซึ่งกลุ่มนี้ไม่เข้าข่ายการรับเงินเดือนละ 5 พันบาทจำนวน 3 เดือนเพราะรัฐกำลังจะมีมาตรการช่วยเหลือต่างหาก
ส่วนผู้สูงอายุกลุ่มรองลงมาคือ ผู้มีอาชีพพนักงานบริการและผู้จำหน่ายสินค้า ร้อยละ 19.6 (8 แสนคน) ช่างฝีมือหรือผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ร้อยละ 8.6 (3.5 แสนคน) และผู้ประกอบอาชีพพื้นฐานหรือกรรมกร ร้อยละ 7.2 (ประมาณ 3 แสนคน)
รวมแล้วมีแรงงานสูงอายุที่เข้าเกณฑ์รับเงินเยียวยาเดือนละ 5 พันบาท ประมาณ 1.45 ล้านคน
“ในด้านรายได้ มีผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 30 ที่มีรายได้จากการทำงาน โดยรายได้หลักมาจากบุตร ซึ่งในภาวะโควิด-19 รายได้ส่วนนี้คงหดหายไปเพราะบุตรเองก็แทบเอาตัวไม่รอด มีผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 6 ที่มีสามารถมีเงินบำเหน็จบำนาญ ส่วนการประกันสังคม มาตรา 33 นั้น อายุเกิน 60 ปี เขาไม่รับประกันอยู่แล้ว ถ้าไม่นับผู้มีอาชีพเกษตรกร แรงงานผู้สูงอายุที่มีอาชีพอื่นๆล้วนแต่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการ สถานประกอบการ มาตรการเคอร์ฟิวและการปิดจังหวัด ทั้งนั้น” ”ดร.สราวุธระบุ
ดังนั้นแรงงานผู้สูงอายุ มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาจากรัฐทั้งนั้น แต่ในทางปฏิบัติการเยียวยาอาจไปไม่ถึงแรงงานผู้สูงอายุ เพราะไม่ได้รับข้อมูล ไม่ทราบวิธีการลงทะเบียนอันที่ใช้ AI และไม่ถนัดในการใช้มือถือหรือคอมพิวเตอร์ ตลอดจนหลายคนมีสภาพเหมือนคนชายขอบที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรหรือชุมชน
อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 17 เมษายน คณะกรรมการ 10 ปลัดกระทรวง หรือคณะกรรมการการกำกับดูแลด้านผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เพิ่งตั้งขึ้น กำลังพิจารณาให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ไปพิจารณาเพิ่มคือ กลุ่มที่มีความเปราะบาง เช่น กลุ่มผู้พิการ คนชรา คนไร้บ้าน ต้องไปดูว่าได้รับผลกระทบอย่างไร
ดร.สราวุธ ให้ข้อสังเกตว่า การให้ความช่วยเหลือคนชราต้องแยกกันกับแรงงานผู้สูงอายุ เพราะกลุ่มหลังนี้มีฐานะเป็น “ผู้มีงานทำ” ซึ่งเข้าเกณฑ์ได้รับความช่วยเหลือตามโครงการเยียวยาเดือนละ 5 พันบาท ในขณะที่กลุ่มหลังไม่ใช่ผู้มีงานทำหรือผู้อยู่ในกำลังแรงงานและอยู่ในสถานะผู้พึ่งพิง (dependents) ซึ่งเป็นคนละสถานภาพกันและมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือต่างรูปแบบกัน
หมายเหตุ บทความดังกล่าวถูกเผยแพร่ในเว็ปไซต์มติชนออนไลน์ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่มา : https://www.matichon.co.th/columnists/news_2165573