“ภาวะสมองเสื่อม” ป่วยเพิ่มปีละ 1 แสนราย สถิติ ชี้ ร้อยละ50 ของผู้สูงวัย80ขึ้นไปมีอาการ

“ภาวะสมองเสื่อม” ป่วยเพิ่มปีละ​ 1​ แสนราย​  สถิติ​ ชี้​ ร้อยละ50​ ของผู้สูงวัย80ขึ้นไปมีอาการ​ ต้องพึ่งพาผู้อื่นดำรงชีวิต​ ทำคนดูแลซึมเศร้าถึง​ 1ใน3

ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบก้าวกระโดด โดยมีประชากรเข้าสู่วัยสูงอายุกว่าปีละล้านคน​

สิ่งที่ตามมาคือการรับมือกับการดูแลประชากรที่อยู่ในวัยสูงอายุโดยเฉพาะการดูแลสุขภาพอนามัย

“ภาวะสมองเสื่อม” เป็นอาการที่จะเกิดขึ้นในผู้สูงอายุส่วนใหญ่​ โดยพบว่าประชากรสูงอายุในประเทศไทยมีจำนวนของภาวะสมองเสื่อม​โดยเฉลี่ยร้อยละ 2 ถึง 10  ซึ่งเมื่ออายุเพิ่มขึ้น โอกาสที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อมก็มากขึ้น​

ในปี 2558 พบผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์​ ซึ่งเป็นโรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่งประมาณ 6 แสนคน​ โดยมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 100,000 รายต่อปี​ ประมาณการณ์ว่าในปี 2573 จะมีผู้สูงอายุป่วยเป็นอัลไซเมอร์เพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,177,000 คน​ โดยผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนในการเป็นโรคนี้ประมาณร้อยละ 5 -8 และเมื่อมีอายุ 80 ปีสัดส่วนของการเป็นโรคอัลไซเมอร์สูงถึงร้อยละ 50

“ภาวะสมองเสื่อม” คือ​ ภาวะที่สมองเกิดการสูญเสียหน้าที่ในการทำงานหลายๆด้านพร้อมกันอย่างช้าๆแต่ถาวร​ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาด้านความจำ​ การรู้คิด​การตัดสินใจ​  จนส่งผลให้เกิดการรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน​ รวมถึงปัญหาด้านพฤติกรรม​ และอารมณ์ร่วมด้วย​ เช่น​ มีพฤติกรรมก้าวร้าว​ อาการกระสับกระส่าย​ อาการหวาดระแวงและหลงผิด

ภาวะสมองเสื่อมมาจาก​ 2 สาเหตุ​ คือ​  เกิดจากความเสื่อมสลายของเซลล์ประสาท​ ​ สำหรับสาเหตุแรกนั้นมีหลายโรคที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป​ ได้แก่​ อัลไซเมอร์​ พาร์กินสัน​ โดยเฉพาะโรคอัลไซเมอร์ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยของภาวะสมองเสื่อมในประเทศต่างๆทั่วโลก​ ส่วนอีกสาเหตุ​ คือ​  ไม่ได้เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทโดยตรง​ เช่นภาวะในช่วงสมองขยายใหญ่จากน้ำเลี้ยงสมองคั่ง​ การเกิดอุบัติเหตุ​ การได้รับสารพิษบางชนิด​ และสาเหตุจากหลอดเลือดสมองมีความผิดปกติ​ ซึ่งถือเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด

โดยภาวะสมองเสื่อมไม่สามารถรักษาให้หายขาด หลังเกิดอาการผู้ป่วยจะต้องใช้ชีวิตในภาวะทุพพลภาพยาวนาน​ 10-20 ปีโดยผู้ป่วยสมองเสื่อมจะต้องพึ่งพาผู้ดูแลในการดำรงชีวิต ดังนั้น​ “ภาวะสมองเสื่อม”  ไม่ได้มีผลกระทบแค่ต่อตัวผู้ป่วยเท่านั้น​ แต่ยังกระทบต่อผู้ดูแลและคนรอบข้างซึ่งมีจำนวนใกล้เคียงกับผู้ป่วย​  โดยคนเหล่านี้ได้รับผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ​ เศรษฐกิจและสังคม​

อีกทั้งยังส่งผลย้อนกลับไปสู่ตัวผู้ป่วยให้ได้รับคุณภาพการดูแลที่ไม่ดีและอาจถึงกับตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการถูกกระทำทารุณกรรมได้ จนนำไปสู่การเรียกภาวะสมองเสื่อมว่า​”โรคครอบครัว” เพราะสมาชิกในครอบครัวมากกว่าร้อยละ 50 ของคนที่ดูแลผู้ป่วยเป็นบุตร​ และร้อยละ 5 -​ 11 เป็นคู่สมรส​ คนเหล่านี้จะกลายเป็นบุคคลสำคัญที่รับหน้าที่ดูแล​  แต่ในขณะเดียวกันไม่ได้รับข้อมูลในการดูแลที่ถูกต้อง​ อีกทั้งมักจะไม่สามารถปรับตัวได้กับสภาวะอารมณ์และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากภาวะสมองเสื่อม​ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา​ และมีแนวโน้มที่แย่ลงไปเรื่อยๆจนส่งผลกระทบต่อทั้งสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ดูแล​ ทำให้ผู้ดูแลอาจกลายเป็นผู้ป่วยที่ถูกมองข้าม​ โดยมีข้อมูลระบุว่าผู้ดูแลผู้สูงอายุประมาณ 1 ใน 3 มีปัญหาซึมเศร้าและร้อยละ 5-10 ป่วยด้วยโรควิตกกังวล

**ขอบคุณข้อมูลจาก “ข้อมูลเพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย : การจัดระบบบริการสุขภาพเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม โดย น.ส.อภิญญา ตันทวีวงศ์

รอติดตามอ่านต่อภาวะสมองเสื่อมตอนที่2​ :  3ระบบ​ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมในไทย​ มส.ผส.จับมือภาคีเครือข่าย นำร่องพัฒนาผู้ป่วยแบบไร้รอยต่อ​เร็วๆนี้