3ระบบดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมในไทย “มส.ผส.” จับมือภาคีเครือข่าย นำร่องพัฒนาผู้ป่วยแบบไร้รอยต่อ
ปรากฏการณ์สึนามิประชากรที่เข้าสู่วัยกลางคนกว่าปีละล้านคน ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุที่สมบูรณ์
จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “ภาวะสมองเสื่อม” ซึ่งเป็นอาการที่จะเกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงวัย คือปัญหาใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นเดียวกัน โดยนอกจากจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยและคุณภาพชีวิตของคนในครอบครัว หรือผู้ดูแลแล้ว ยังกระทบต่องบประมาณที่จะต้องใช้ในการดูแลรักษาจำนวนมากในระยะยาวด้วย
สำหรับระบบที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมในประเทศไทยในขณะนี้มี 3 ส่วน
“ระบบหลัก” การจัดการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมยังขาดเจ้าภาพหลัก แต่มีลักษณะกระจายความรับผิดชอบไปตามหน่วยงานที่มีภารกิจที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมสุขภาพจิต กรมกิจการผู้สูงอายุ แต่จากการวิจัยพบว่ายังไม่เกิดความร่วมมือที่ประสานกันเป็นเนื้อเดียวเนื่องจากขาดแนวทางนโยบายในการจัดการกับปัญหาผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน
“ระบบนำร่อง” เป็นการพัฒนาระบบดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมแบบไร้รอยต่อ โดยความร่วมมือกันของกรมการแพทย์ ก.สาธารณสุข สมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย(มส.ผส.) ชมรมพยาบาลผู้ป่วยสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายการทำงานในพื้นที่และสถานบริการ ได้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่ต้นแบบระบบดูแลรักษาผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม 4 แห่ง
ประกอบไปด้วย โรงพยาบาลบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น ศูนย์แพทย์ชุมชนเมืองจอหอ, โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาจังหวัดนครราชสีมา, โรงพยาบาลลำสนธิ จังหวัดลพบุรี และโรงพยาบาลคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อทำให้เกิดระบบการดูแลที่มีการเชื่อมโยงกันตั้งแต่การเข้ามามีบทบาทในการคัดกรองผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม จนถึงการส่งต่อไปรักษาโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ และการดูแลต่อเนื่องในระยะยาว
โดยเป้าหมายคือให้ ผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมได้รับการดูแลที่ไม่ขาดตอนจนจบซึ่งตลอดทั้งกระบวนการ
ในปัจจุบันมีการขยายโมเดลการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมไปแล้ว 9 เขตพื้นที่ จาก 13 เขตของประเทศไทยคาดว่าในปีนี้จะแล้วเสร็จทั้ง 13 เขต
ขณะเดียวกันในส่วนขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นโดยเฉพาะในระดับตำบลและในระดับอำเภอ ได้อำนวยความสะดวกในการเข้ารับบริการจากสถานบริการสาธารณสุข เช่น จัดให้มีรถรับส่งบริการให้แก่ผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมในการพบแพทย์ การมีอาสาสมัครในการช่วยดูแลสอดส่องค้นหาและสังเกตผู้สูงอายุในพื้นที่ หรือเฝ้าระวังการสูญหายของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม
สิ่งเหล่านี้จึงนับเป็นกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนและประสานระบบในการดูแลรักษาผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมที่ไร้รอยต่อ ให้มีความสมบูรณ์และไร้ช่องว่างอย่างแท้จริง
“ระบบสนับสนุนแบบไม่เป็นทางการ” เช่น จัดอบรมจะทำ Facebook เพื่อเปิดให้ความช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่กลุ่มผู้ดูแลที่ไม่สามารถเข้ารับคำปรึกษาได้ รวมถึงคนหลายสายด่วนที่ให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญ ของสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่จัดให้มีระบบสนับสนุนความรู้และพัฒนาเครือข่ายของบุคลากรสาธารณสุขกับผู้ป่วยสมองเสื่อม
รวมไปถึงการจัดทำแอพพลิเคชั่นที่ให้ข้อมูลในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมในเบื้องต้น และมีช่องทางในการให้ความช่วยเหลือ และให้คำปรึกษาผ่านทางแอพพลิเคชั่น ของสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ แต่พบว่ายังมีกลุ่มผู้ดูแลและประชาชนจำนวนน้อยที่ได้รับข้อมูลข่าวสารและเข้าถึงช่องทางในการให้ความช่วยเหลือดังกล่าว
**ขอบคุณข้อมูลจาก “ข้อมูลเพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย : การจัดระบบบริการสุขภาพเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม โดย น.ส.อภิญญา ตันทวีวงศ์
**อ่านต่อภาวะสมองเสื่อมตอนที่3 : เทียบมาตรการดูแลผู้สูงวัยในภาวะสมองเสื่อม ไทย –ต่างประเทศเร็วๆนี้