เทียบมาตรการดูแลผู้สูงวัยในภาวะสมองเสื่อม ไทย –ต่างประเทศ

เทียบ​มาตรการ​ดูแลผู้สูงวัย​ในภาวะสมองเสื่อม​ ไทย​ –​ต่างประเทศ

ประเทศไทยยังคงขาดแนวทางนโยบายในการจัดการปัญหาของผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนขณะเดียวกันยังพบว่ามีช่องว่างในระบบจัดการปัญหา  โดยเสียงสะท้อนผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรด้านสาธารณสุข​ ผู้ดูแลผู้ป่วย​ ต่างเห็นร่วมกันว่า ระบบสาธารณสุขเพื่อดูแลผู้ป่วย​ ยังขาดเครื่องมือและระบบคัดกรองสมองเสื่อมที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย​ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบบริการระดับปฐมภูมิ​ ,ไม่มีการจัดการหรือหน่วยอำนวยการกลาง,​ ศักยภาพด้านบุคลากรไม่เพียงพอ​ ,ขาดการดูแลรักษาที่ครอบคลุมอย่างต่อเนื่อง​ และไม่มีระบบสารสนเทศช่วยบริหารจัดการขาดความรู้ความเข้าใจ

นอกจากนี้ยังพบว่าระบบสนับสนุนการดูแลผู้ป่วย ขาดความรู้ความเข้าใจ​ ไม่มีคำปรึกษาการให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที​ หรือ สนับสนุนในหลายๆด้าน​ ไม่ว่าจะเป็น​ ผู้ดูแลที่มีความรู้แบบว่าจ้างทางระยะยาวและชั่วคราว​ การเดินทางไป-กลับโรงพยาบาล​ รวมไปถึงการมีกิจกรรมรองรับด้านสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตโดยรวม

ในขณะเดียวกันในหลายประเทศทั่วโลก​ต่างมีนโยบายยุทธศาสตร์ และแนวทางการดูแลผู้ที่มีสภาวะสมองเสื่อมที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น “ฟินแลนด์”​ มีแผนงานแห่งชาติด้านความทรงจำ​ ซึ่งแผนงานดังกล่าววมีหน้าที่สนับสนุนหน่วยงานท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภาวะด้านสุขภาพที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ

“เดนมาร์ก”​ มีแผนปฏิบัติการระดับชาติปี 2025 โดยมีเป้าหมายเพื่อดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมอย่างครอบคลุม

“เนเธอร์แลนด์”​ มีแผน Delta สำหรับผู้ป่วยสมองเสื่อม มีจุดหมายเพื่อให้ผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมและครอบครัวสามารถมีชีวิตอยู่กับภาวะสมองเสื่อมได้อย่างไม่มีอุปสรรค

“ออสเตรเลีย”​ มีกรอบแนวทางในการปฏิบัติการด้านผู้มีภาวะสมองเสื่อมระดับชาติ​ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมและผู้ดูแล

“เกาหลีใต้”​ มีแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติระยะ 5 ปี เพื่อบริหารจัดการภาวะสมองเสื่อมเน้นเรื่องของระบบประกันสุขภาพและการวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมอย่างรวดเร็ว

“ญี่ปุ่น”​ มีแผนยุทธศาสตร์ “New Orange Plan” โดยสัมพันธ์กับระบบการดูแลผู้ป่วยแบบบูรณาการ มุ่งเน้นในประเด็นที่จำเป็นที่จะทำให้ผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมมีชีวิตอยู่อย่างน่าพึงพอใจในสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเค​ย และทำให้ผู้ป่วยอยากมีชีวิตยืนยาวตามที่ควรจะเป็น​ พร้อมส่งเสริมสังคมสูงวัยและสังคมที่เป็นมิตรกับผู้ป่วยสมองเสื่อม

“สก็อตแลนด์”​ ให้ความสำคัญในการทำให้ผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม และผู้ดูแลสามารถเข้าถึงตั้งแต่การวินิจฉัยที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ​ มีระบบสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยที่ครอบคลุมตั้งแต่มีอาการจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

“อังกฤษ​” มีแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี​ โดยพัฒนาระบบบริการสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมและผู้ดูแลที่เหมาะสมสำหรับศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งเน้นบริการที่เหมาะสมกับทุกคนโดยไม่มีข้อจำกัดทางด้านอายุชาติพันธุ์หรือฐานะ

“สหรัฐอเมริกา”​ มีกฎหมายระดับชาติด้านอัลไซเมอร์มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแผนยุทธศาสตร์ชาติ​ แบบบูรณาการอย่างยั่งยืนเพื่อเอาชนะภาวะสมองเสื่อม​ สนับสนุนการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์และสนับสนุนบริการที่เกี่ยวข้องส่งเสริมการพัฒนาแนวทางการรักษาการป้องกัน​ และการชะลออาการของโรคอัลไซเมอร์  ส่งเสริมการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์อย่างรวดเร็ว​ รวมทั้งการดูแลรักษาที่มีประสิทธิภาพ​ ลดความเหลื่อมล้ำที่มีผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคอัลไซเมอร์และประสานความร่วมมือกับต่างประเทศในการดูแลต่อสู้โรคอัลไซเมอร์ในระดับสากล

“ฮ่องกง”​ แม้ว่าจะไม่มีแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติ​ที่เป็นทางการ แต่มีการดำเนินการโครงการย่อย​ โดยเน้นให้ความช่วยเหลือสนับสนุนครอบครัวและผู้ดูแลผู้ป่วยเป็นหลักร่วมกับระบบรัฐสวัสดิการที่ครอบคลุม

โดยฮ่องกงมีนโยบายที่ให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2520 แม้ว่าในปัจจุบันฮ่องกงจะยังไม่มียุทธศาสตร์ระดับชาติที่รับมือเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อมโดยตรง​ แต่ภาครัฐมีความพยายามให้ความช่วยเหลือชุมชน​ โดยมีการจัดบริการดูแลระยะยาวที่มีประสิทธิภาพร่วมกับการพัฒนาดูแลแบบรายวันสำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม

ขณะที่ “จีน”​ ที่มีเป้าหมายในการสร้างชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม

โดยนโยบายในประเทศต่างๆถูกนำมาประมวลเป็นเพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับประเทศไทย ภายใต้เป้าหมาย คือ แนวทางการรับมือกับการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่การสร้างสุขภาวะที่ดีสำหรับผู้มีภาวะสมองเสื่อมและผู้ดูแล

อ่านต่อตอนต่อไป : เปิดข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะ ยกระดับกลไกจัดการ ผู้มีภาวะสมองเสื่อม ในสังคมผู้สูงวัย ให้ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องและเป็นมิตร

** ขอบคุณข้อมูลจาก “ข้อมูลเพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย : การจัดระบบบริการสุขภาพเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม โดย น.ส.อภิญญา ตันทวีวงศ์