ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ตอนที่ 1 : ค้นหาความหมายของ “ตายดี”
“ตายดี-ไปสบาย” คือสิ่งที่ทุกคนปราถนาในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต เป็นที่มาของคำถามที่ว่าจะทำอย่างไรให้การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย สามารถทำให้ผู้ป่วยเผชิญความตายอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
เกือบ 2 ทศวรรษที่ไทยเริ่มต้นสนับสนุนให้มี “การจัดระบบดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง” หรือ Palliative care และนโยบายนี้ถูกระบุเป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีแผนรองรับชัดเจนตั้งแต่ปี 2560 ขณะเดียวกันยังเป็นสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตั้งแต่ปี 2553
แต่ทว่ายังพบว่าการบริการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิตยังมีช่องว่างอยู่ ซึ่งกลายเป็นความท้าทายสำหรับการพัฒนานโยบายที่จะเอื้ออำนวยให้เกิดการบริการที่มีคุณภาพและเปิดกว้างให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพนี้ได้อย่างครบถ้วน
กรมการแพทย์ ได้ให้คำนิยามของคำว่า”Palliative care” ไว้ว่า การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคองเป็นการดูแลแบบองค์รวมทั้งร่างกายจิตใจและจิตวิญญาณมุมให้ความสุขสบายแก่ผู้ป่วยช่วยลดความปวดและความทุกข์ทรมานการตระหนักถึงการตายอย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์รวมถึงครอบครัวผู้ป่วยระยะสุดท้ายและหลังเสียชีวิต
โดยในประเทศไทยแบ่งกลุ่มผู้ป่วยระยะท้ายออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่เจ็บป่วยระยะท้ายด้วยโรคมะเร็ง กลุ่มผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่เจ็บป่วยระยะท้ายด้วยโรคเรื้อรังอื่นที่ไม่ใช่มะเร็ง และกลุ่มผู้ป่วยเด็กที่เจ็บป่วยระยะท้าย
ขณะเดียวกันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะกลุ่มมะเร็งและโรคทางหลอดเลือดเพิ่มสูง
จากสถิติพบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของไทย และมีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2555 มีจำนวน 98.5 ต่อแสนประชากร เป็น 110 3.7 ต่อแสนประชาชนในปี 2558 ขณะที่โรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นจาก 3.7 ต่อแสนประชากรในปี 2555 เป็น 48.7 ต่อแสนประชากรในปี 2559 ซึ่งเป็นสิ่งที่ชี้ชัดถึงความจำเป็นและความต้องการการดูแลแบบประคับประคองที่มากขึ้น ซึ่งถือเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วย
อย่างไรก็ตามในทางตรงกันข้าม หากขาดระบบบริการที่ดีจะทำให้เกิดความสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เพราะค่าใช้จ่ายของบุคคลในช่วง 6 เดือนสุดท้ายของชีวิต มีมูลค่าสูงมากกว่าทุกช่วงของชีวิต และทำให้ผู้ป่วยถูกปิดกั้นโอกาสเข้าถึงการตายดี
นอกจากนี้การขาดระบบบริการที่ดีทำให้ผู้ป่วยตกอยู่ในสถานการณ์การยื้อชีวิตโดยไม่จำเป็น จากเครื่องมือกู้ชีพต่างๆไม่ว่าจะเป็นการเจาะคอเพื่อใส่ท่อช่วยหายใจ เครื่องปั๊มหัวใจ การต่อสายให้อาหาร ที่สร้างความเจ็บปวดและทรมานจงส่งผลให้จากไปอย่างไม่สงบ
ดังนั้นการคืนสิทธิ์แก่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายในการตัดสินใจถึงแนวทางการรักษาตนเองร่วมกับญาติและบุคลากรทางการแพทย์จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
อ่านต่อ : ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ตอนที่ 2 : คนไทย “ตายดี” อันดับที่เท่าไหร่ของประชากรโลก
ที่มา : ข้อมูลเพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย ประเด็น – การจัดระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative care )