ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ตอนที่ 2 : คนไทย “ตายดี” อันดับที่เท่าไหร่ของประชากรโลก
กว่า 50 ปีคือการจัดบริการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายของชีวิตในหลายทั่วโลกโดยประเทศที่พัฒนาแล้วเริ่มจัดบริการแบบ Hospice เพื่อดูแลแบบประคับประคองในปี 2510 ก่อนที่ในปี 2546 สหภาพยุโรปได้ให้การรับรองเอกสารการปกป้องสิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีของผู้ป่วยในวาระสุดท้ายและผู้ที่กำลังเสียชีวิต พร้อมออกข้อเสนอแนะสำหรับประเทศสมาชิกเกี่ยวกับการจัดระบบการดูแลแบบประคับประคอง
ต่อมาในที่ประชุมสมัชชาอนามัย ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายและถือเป็นประเด็นที่ต้องส่งเสริมเพื่อให้มีการบริการอย่างทั่วถึงโดยองค์การอนามัยโลกมีกรอบแนวคิดในการจัดดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative care) ใน 4 แนวทาง คือ
1.ต้องมีกฎหมายสนับสนุนหรือมีข้อบังคับที่เอื้อต่อการพัฒนาระบบนี้
2. การเข้าถึงยา ต้องมุ่งเน้นยาที่จำเป็นต่อการบำบัดอาการทุกข์ทรมานซึ่งบางชนิดมีข้อจำกัดในการเข้าถึง เช่น ยาแก้ปวดกลุ่มOpioids หรือ มอร์ฟีนซึ่งบางประเทศจัดไว้ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษ
3. การเตรียมบุคลากร ที่จะให้บริการ เนื่องจากบริการด้านนี้แตกต่างจากการบริการสาธารณสุขด้านอื่น นอกจากนี้ ยังพบว่าแพทย์และพยาบาลจำนวนไม่น้อยยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ เพราะไม่ได้อยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนและอาจมองว่าไม่ใช่บทบาทหน้าที่ที่ต้องตามไปดูแลจนถึงวาระสุดท้าย
และ 4 คือ กรอบแนวทางการปฏิบัติ ที่ต้องครอบคลุมตั้งแต่การจัดบริการ ระบบส่งต่อ ระบบข้อมูล ระบบการเงินการคลัง เพื่อให้คนไข้ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะอยู่ที่บ้าน โรงพยาบาล หรือ สถานพยาบาลที่อยู่ระหว่าง บ้านกับโรงพยาบาล
อย่างไรก็ตามในปี 2558 ได้มีการประเมินดัชนีชี้วัดคุณภาพการ “ตายดี” ของ 80 ประเทศทั่วโลก หรือ The 2015 Quality of Death Index โดย Economist Intelligence Unit (EIU) ซึ่งอยู่ภายใต้ นิตยสาร The Economist
พบว่าอันดับที่ 1 ได้แก่ สหราชอาณาจักรตามด้วย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไอร์แลนด์ เบลเยียม ไต้หวัน เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สหรัฐฯ ฝรั่งเศส แคนนาดา สิงคโปร์ นอร์เวย์ ญี่ปุ่น สวิสเซอร์แลนด์ สวีเดน ออสเตรีย เกาหลีใต้ เดนมาร์ก และฟินแลนด์ส่วนประเทศไทยนั้น อยู่ในอันดับที่ 44 และอยู่ในอันดับที่ 10 จากกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
นอกจากนี้รายงานฉบับดังกล่าวได้ “สะท้อน” สาระสำคัญจากการติดตามสถานการณ์เพื่อจัดทำผลประเมินไว้ 10 ประเด็นที่น่าสนใจ ประกอบด้วย 1.สหราชอาณาจักรมีคุณภาพการตายที่ดีที่สุด และประเทศที่มีฐานะร่ำรวยมักจะอยู่ในลำดับต้นๆ ของการจัดอันดับคุณภาพการตาย 2.ประเทศที่มีคุณภาพการตายสูง จะมีลักษณะที่เหมือนกันหลายอย่าง 3.ประเทศที่ไม่ร่ำรวยยังสามารถปรับปรุงมาตรฐานของการบริบาลแบบประคับประคองได้อย่างรวดเร็ว 4.นโยบายระดับชาติเป็นเรื่องจำเป็นในการขยายการเข้าถึงการบริบาลแบบประคับประคอง 5.การฝึกอบรมแพทย์และพยาบาลทุกคน เป็นเรื่องจำเป็นเพื่อให้พอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น
6.เงินอุดหนุนสำหรับบริการการบริบาลแบบประคับประคองเป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้ราคาค่ารักษาอยู่ในระดับที่รับได้ 7.คุณภาพของการบริบาลขึ้นอยู่กับการเข้าถึงยาระงับปวดกลุ่มโอปิออยด์ (Opioid) และการสนับสนุนทางจิตวิทยา 8.การสนับสนุนของชุมชนเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้และสนับสนุนให้เกิดบทสนทนาในเรื่องของความตาย 9.การบริบาลแบบประคับประคองต้องมีการลงทุน แต่จะทำให้ประหยัดค่าการดูแลสุขภาพไปได้ และ10.ความต้องการการบริบาลแบบประคับประคองจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในบางประเทศที่ไม่ได้มีเครื่องมือรองรับเพียงพอกับระดับความต้องการดังกล่าว
นอกจากนี้ยังพบว่า ประเทศระดับต้น ๆ หลายประเทศมีกรอบนโยบายแบบครอบคลุมที่ควบรวมบริการ Palliative care เข้าไปในระบบดูแลสุขภาพ ไม่ว่าจะผ่านแผนการประกันสุขาภาพของชาติแบบประเทศสหราชอาณาจักร และ ไต้หวัน หรือผ่านโครงการควบคุมมะเร็ง เช่น ในมองโกเลีย หรือ ญี่ปุ่น ฯลฯ
โดยนโยบายที่ได้ผลดีจะสามารถสร้างผลลัพธ์ที่จับต้องได้ เช่น การเปิดตัวกลยุทธ์แห่งชาติของสเปน ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มทีมการให้บริบาลแบบประคับประคองถึง ร้อยละ 50 และทำให้แนวปฏิบัติในระดับภูมิภาคเป็นปึกแผ่นมากขึ้น
อ่านต่อ : ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ตอนที่ 3 : สำรวจ2 ทศวรรษ “ตายดี” ในไทย
ที่มา : ข้อมูลเพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย ประเด็น – การจัดระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative care )