ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ตอนที่ 3 : สำรวจ 2 ทศวรรษ “ตายดี” ในไทย

ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ตอนที่ 3 : สำรวจ 2 ทศวรรษ “ตายดี” ในไทย

กว่า 2 ทศวรรษ ที่ประเทศไทยได้เริ่มต้นการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่ปี 2540  และขยายตัวมากขึ้นในปี 2555 จนถึง 2558  แต่ส่วนใหญ่เป็นงานพัฒนาด้านการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายมุ่งเน้นการให้ความรู้และทักษะเกี่ยวกับแนวทางการให้การดูแลแบบประคับประคองแก่บุคลากรในส่วนงานบริการมากกว่าแนวทางการจัดระบบบริการ

พื้นฐานของการบริการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในประเทศไทย มีทั้งบริการผู้ป่วยใน บริการผู้ป่วยนอก และบริการดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่บ้าน โดยมีจุดรวมเดียวกัน คือ การดูแลแบบประคับประคองโดยเรียนรู้ผ่านการฝึกอบรมแนวทางเวชปฏิบัติและมาตรฐานการพยาบาลต่างๆที่มีการเผยแพร่จากสถาบันที่อ้างอิงได้

นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกแผนการดูแลรักษาให้แก่ผู้ป่วยและครอบครัว แม้ในทางปฏิบัติอาจมีความท้าทายในบางราย ในบางกรณี เกี่ยวกับการยอมรับความจริงของผู้ป่วย ตลอดจนสมดุลย์ระหว่างการปฏิบัติตามการตัดสินใจของผู้ป่วยและการตัดสินใจของญาติเจ้าของไข้

การให้การดูแลโดยทีมสหสาขาวิชาชีพที่อาจให้การดูแลร่วมกับแพทย์เจ้าของไข้ เดิมที่รักษาโรคของผู้ป่วยหรือทดแทนแพทย์เจ้าของไข้เดิม โดยกระบวนการส่งปรึกษา หรือส่งต่อผู้ป่วย มีการประเมินผู้ป่วยและครอบครัวที่รอบด้าน และมุ่งเน้นทางจิตใจสังคมและจิตวิญญาณมากกว่าการดูแลรักษาที่ผู้ป่วยได้รับในช่วงก่อนหน้า

ในส่วนบทบาทของผู้ดูแลที่เป็นญาติคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทมิตรสหาย ซึ่งอาจมีส่วนมากในการดูแลผู้ป่วยที่บ้านหรือในชุมชนและลดทอนลงไปเมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาในสถานพยาบาล

ขณะที่การจัดสถานที่นั้น เป็นไปเพื่อการดูแลผู้ป่วยให้มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะ สมเอื้อต่อความรู้สึกที่สบาย คล้ายบ้าน มีความสงบเป็นส่วนตัว  ซึ่งการปฏิบัติรูปธรรมของการดำเนินการในด้านนี้ขึ้นอยู่กับข้อจำกัดของสถานพยาบาลและบ้านของผู้ป่วย

และสุดท้าย คือ ความมุ่งหมายในการดูแลรักษาจะมุ่งเน้นคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และความสุขของผู้ใกล้ชิดของผู้ป่วยเป็นสำคัญ เห็นได้จากแนวปฏิบัติในการควบคุมอาการปวดและอื่นๆ การจัดกิจกรรม รวมถึงการมีเครื่องมือติดตามประเมินผล การดูแลจากมุมมองของผู้ป่วยหรือผู้ดูแล

อย่างไรก็ตามการจัดบริการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปในสององค์ประกอบหลัก คือการสร้างทีมสหวิชาชีพที่ให้การดูแลผู้ป่วยแบบราคาประคองในโรงพยาบาล และการติดตามดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่บ้านโดยมีญาติหรืออาสาสมัครในชุมชนเข้ามามีบทบาทในการให้การดูแล ซึ่งรูปแบบของการจัดบริการเพื่อดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในประเทศไทยเกือบทั้งหมดอย่างอิงอยู่กับการจัดบริการโดยโรงพยาบาลหรือสนับสนุนโดยโรงพยาบาล

และเมื่อเทียบเคียงกับการพัฒนาการดูแลแบบประคับประคองในระดับสากลแล้ว ประเทศไทยกําลังก้าวเข้าสู่ระดับที่ 4 palliative care integration คือ มีการดําเนินกิจกรรมการดูแลแบบประคับ-ประคอง ในภาคส่วนสําคัญ กระจายครอบคลุมทั้งประเทศ

สำหรับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดระบบบริการ Palliative care ของประเทศไทย

กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้มีการจัดตั้งหน่วยประคับประคองดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง  และ แผนพัฒนาระบบสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงเรื่องของการจัดการความรู้และบริการ Palliative care

ขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สนับสนุนการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 จนถึงปัจจุบัน

อ่านต่อ : ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ตอนที่ 4 : ชำแหละปัญหา เดินหน้ายกระดับ “ตายดี”

ที่มา : ข้อมูลเพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย ประเด็น  –  การจัดระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative care )