มส.ผส. เปิดงานวิจัย ผู้สูงวัยกับการใช้เทคโนโลยี เผย 3 โปรแกรมยอดฮิตครองใจคนแก่ ไลน์ – เฟซบุ๊ก – ยูทูป พบใช้งานสูงสุด 5 ชม. ต่อวัน เพราะอยากมีส่วนร่วมกับคนในครอบครัว – เพื่อน ด้านนักวิชาการจุฬาฯ เสนอรัฐจัดสวัสดิการพื้นฐาน 5.0 ควบคู่ให้รู้เท่าทันสื่อดิจิทัล แนะผลิตอุปกรณ์และแอพพลิเคชั่นเฉพาะกลุ่มสูงอายุสร้างพฤฒิพลัง
2-3 ชั่วโมง คือระยะเวลาเฉลี่ยในการใช้งานอินเทอร์เน็ตของผู้สูงวัย และผู้ที่จะก้าวสู่ในวัยผู้สูงวัย ที่มีอายุตั้งแต่ 50-70 ปี โดยในช่วงอายุ 50-54 ปี เป็นกลุ่มที่ใช้ระยะเวลาใช้งานเฉลี่ยมากที่สุดวันละ 4-5 ชั่วโมง ผลจากงานวิจัยเรื่อง “การใช้เทคโนโลยีของผู้สูงอายุและข้อเสนอเพื่อเสริมสร้างภาวะพฤฒิพลังของผู้สูงอายุไทย” โดย รศ.ดร.พนม คลี่ฉายา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ภายใต้แผนงานวิจัยท้าทายไทยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ยังพบด้วยว่า ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุจะใช้โปรแกรม ไลน์ เฟสบุ๊ค และ ยูทูปมากที่สุด
ส่วนโปรแกรมอย่างเว็บบล็อก อินสตราแกรม ทวิตเตอร์ พอดคาสต์ อยู่ในระดับที่แทบจะไม่ได้ใช้ จนถึงไม่เคยใช้มาก่อน โดยหากจำแนกตามแอพพลิเคชั่นจะพบรายละเอียด ดังนี้ เฟซบุ๊ก กลุ่มอายุ 60-70 ปี มีความถี่ในการใช้งานระดับปานกลาง ในขณะที่กลุ่มอายุ 50-59 ปี มีความถี่ในการใช้งานระดับมาก ยูทูป กลุ่มอายุ 50-65 ปี มีความถี่ในการใช้งานระดับมาก ในขณะที่กลุ่มอายุ 65-70 ปี มีความถี่ในการใช้งานระดับปานกลาง
เฟสบุ๊คแมสเซนเจอร์ กลุ่มอายุ 60-70 ปี มีความถี่ในการใช้งานระดับแทบจะไม่ได้ใช้ ในขณะที่กลุ่มอายุ 50-59 ปี มีความถี่ในการใช้งานระดับปานกลาง อินสตาแกรม เป็นโปรแกรมที่กลุ่มอายุ 60- 70 ปี ไม่เคยใช้เลย ในขณะที่กลุ่มอายุ 50-59 ปี แทบจะไม่ได้ใช้ ทวิตเตอร์ เป็นโปรแกรมที่กลุ่มอายุ 60 – 70 ปี ไม่เคยใช้เลย ในขณะที่กลุ่มอายุ 50-59 ปี แทบจะไม่ได้ใช้ และพอดคาสต์ เป็นโปรแกรมที่กลุ่มอายุ 55-70 ปี ไม่เคยใช้เลย
งานวิจัยยังได้ศึกษาถึงจุดประสงค์ของการใช้งานอินเทอร์เน็ตของกลุ่มผู้สูงวัย พบว่า ส่วนใหญ่จะสนทนาผ่านโปรแกรมไลน์ เฟซบุ๊ก โดยกลุ่มอายุ 50-59 ปี มีการใช้งานในระดับมาก และกลุ่มอายุ 60 -70 ปี มีการใช้งานระดับปานกลาง ตามด้วยการอ่านข่าวติดตามความเคลื่อนไหวเหตุการณ์ต่างๆ ในสังคม พบว่า กลุ่มอายุ 50 – 64 ปี มีการใช้งานระดับมาก และกลุ่มอายุ 65 – 70 ปี มีการใช้งานระดับปานกลาง ส่วนการซื้อสินค้าออนไลน์ การรับส่งอีเมล การเขียนบล็อก หรือทำคลิปอัปโหลดบนยูทูป หรือ สร้างเว็บไซต์ หรือ สร้างเพจของตนเอง มีการใช้งานระดับน้อยในทุกกลุ่มอายุ
ขณะที่แรงจูงใจในการใช้เทคโนโลยีของผู้สูงวัย พบว่ามี 4 ปัจจัย คือ 1.การต้องการการมีส่วนร่วมและทำกิจกรรมกับคนวัยเดียวกัน ครอบครัวและสังคม 2.ความต้องการรายได้เพื่อความมั่นคงในชีวิต 3.การตระหนักถึงความสามารถในการใช้อินเตอร์เน็ตพัฒนาตนเอง และ 4.การดูแลสุขภาพบันเทิงรวมถึงชีวิตที่ดี
โดยการใช้เทคโนโลยี เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวอยู่ในระดับมาก ส่วนความสามารถในการสร้างเนื้อหาและสร้างรายได้บนอินเทอร์เน็ตอยู่ในระดับน้อย ขณะที่การสร้างรายได้จากการสร้างเนื้อหาอยู่ในระดับน้อยที่สุด
ขณะที่การรู้เท่าทันสื่อเทคโนโลยีนั้น พบว่ากลุ่มอายุ 60-70ปี มีความรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลระดับปานกลาง ส่วนกลุ่มผู้จะก้าวสู่วัยผู้สูงวัย 50-59 ปี มีความรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลมาก
อย่างไรก็ตาม พบว่า ผู้สูงวัยมีอุปสรรคในการใช้เทคโนโลยี เช่น ปัญหาทางสายตา ความซับซ้อนและ ความยุ่งยากจากเทคโนโลยี มีความกังวลในการกรอกข้อมูลรายละเอียดส่วนตัว การโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณ ที่เกินจริง และมีความเชื่อว่าระบบสัญญาณในโทรศัพท์จะส่งผลต่อระบบประสาท
ผู้วิจัย มีข้อเสนอเชิงนโยบายสวัสดิการพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสำหรับสังคมผู้สูงวัย 5.0 ว่า ควรจะสวัสดิการการสนับสนุนค่าใช้จ่ายควบคู่กับการพัฒนาเครือข่ายการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสำหรับผู้สูงวัย การเพิ่มความสามารถในการใช้เทคโนโลยีควบคู่กับการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล การปกป้องสิทธิและความปลอดภัยบนสื่อออนไลน์สำหรับผู้สูงวัย การส่งเสริมการออกแบบผลิตอุปกรณ์และแอพพลิเคชั่นเฉพาะผู้สูงวัยที่เข้าถึงได้ และการส่งเสริมการสร้างสรรค์เนื้อหาสร้างพฤฒพลังสำหรับผู้สูงวัย
ขณะที่ข้อเสนอเชิงนโยบายสร้างความมั่นคงในชีวิตผู้สูงวัยด้วยเทคโนโลยีนั้น ควรจะมีการจัดตั้งศูนย์ บ่มเพาะวิสาหกิจออนไลน์ การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่านสื่อออนไลน์ การสร้างแพลตฟอร์มร้านออนไลน์ เป็นช่องทางการตลาดให้แก่ผู้สูงวัย และส่งเสริมการทำงานรับจ้างอิสระผ่านช่องทางออนไลน์และสตาร์ทอัพ
เพื่อเป็นการเสริมสร้างภาวะพฤฒิพลังของผู้สูงวัยไทย