สังเกตอย่างไรเมื่อผู้สูงวัยมีภาวะซึมเศร้า

สังเกตอย่างไรเมื่อผู้สูงวัยมีภาวะซึมเศร้า

ภาวะอารมณ์เศร้า หรือ โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ มักเกิดในช่วงอายุ ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป โดยมี 2 ลักษณะ คือ มีอาการซึมเศร้าที่เป็นมาก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ และที่เกิดในช่วงที่เข้าสู่วัยสูงอายุแล้ว

ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุพบมากถึงร้อยละ 10-20  ของประชากรสูงอายุทั้งหมด และส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้ที่หย่าร้าง อยู่ตัวคนเดียว หรือสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก จะมีความเสี่ยงกับภาวะนี้มากขึ้น

“กรมกิจการผู้สูงอายุ” ให้ข้อแนะนำในการสังเกตอาการของผู้สูงอายุว่าผู้สูงวัยมีภาวะซึมเศร้าหรือไม่

1.นิ่งพูดน้อย หากพบว่าผู้สูงอายุนิ่งไม่ค่อยตอบสนองส่งผลให้ผู้ดูแลไม่ทราบว่าจะพูดอย่างไรให้ถูกใจ ผู้ดูแลควรให้ความรักแก่ผู้สูงอายุมันสังเกตและใส่ใจความรู้สึกพร้อมทั้งเปิดโอกาสผู้สูงอายุได้พูดในสิ่งที่ต้องการหรือชวนพูดคุยเรื่องที่ผู้สูงอายุสนใจ

2.รับประทานอาหารน้อยลง เมื่อผู้สูงอายุเริ่มรับประทานอาหารได้น้อยลง จะมีความเสี่ยงต่อภาวะขาดสารอาหาร ดังนั้นควรปรับเปลี่ยนเมนูอาหารให้น่ารับประทานขึ้น โดยเลือกเมนูอาหารอ่อนๆหรือย่อยง่าย และไม่กระทบต่อโรคประจำตัวของผู้สูงอายุ

3.ไม่อยากทำอะไร เฉื่อยชา ถ้าผู้สูงอายุ มีความสนใจสิ่งต่างๆลดลง หรือ ไม่อยากพูดคุยกับใครไม่อยากทำอะไรเบื่อหน่าย ควรพยายามกระตุ้นให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะกิจกรรมง่ายๆให้ผู้สูงอายุรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง อีกทั้งควรกระตุ้นให้ผู้สูงอายุดูแลสุขภาพตนเอง

4.ชวนไปไหนไม่ค่อยอยากไป ในกรณีผู้สูงอายุชอบเก็บตัวและแยกตัวจากผู้อื่นลูกหลานชวนไปไหนไม่อยากไป ให้ลูกหลานพยายามเข้าหา ควรหากิจกรรมทำโดยควรเริ่มจากกิจกรรมเล็กๆในครอบครัว เพราะหากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้ผู้สูงอายุอารมณ์เลวร้ายลง

5.นอนไม่หลับหรือนอนมากไป มักมาจากปัญหาวิตกกังวลและอายุซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการนอนหลับได้ โดยมีคำแนะนำ คือ หากผู้สูงอายุง่วงมากในเวลาช่วงกลางวันให้นอนระหว่าง 12.00 ถึง 14.00 น. แล้วปลุกเพราะถ้านอนกลางวันมากไปตอนกลางคืนจะมีปัญหาการนอน แต่หากนอนตอนกลางคืนไม่หลับ อาจชวนทำกิจกรรมเบาๆ เช่น อ่านหนังสือ หรือ ฟังธรรมะ แต่หากนอนไม่หลับติดต่อกัน3-4วันควรไปพบแพทย์

6.อารมณ์แปลปรวนหงุดหงิด ฉุนเฉียว  อาจเกิดจากลูกหลานทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกกว่าไม่มีความหมายทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม  ดังนั้นลูกหลานไม่ควรโวยวายหรือโต้เถียง เพราะยิ่งโต้เถียงจะทำให้ผู้สูงอายุเกิดอารมณ์ขุ่นมัว ต้องรับฟังอย่างเข้าใจ ปล่อยให้ผู้สูงอายุระบายความรู้สึกออกมาก่อน และหาวิธีเพื่อลดความหงุดหงิด รวมถึงพยายามเบนความสนใจจากเรื่องที่ทำให้หงุดหงิด อาจจะจับที่หลังมือของผู้สูงอายุระหว่างคุย จะช่วยลดอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียวได้

7.บ่นว่าตนเองเป็นภาระของลูกหลาน ผู้สูงอายุจะรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า หรือ รู้สึกผิดมากกว่าปกติ มีความคิดอยากตายหรืออยากทำร้ายตัวเอง ดังนั้นผู้ดูแลจะต้องสังเกตความผิดปกติเล็กๆน้อยๆซึ่งอาจบ่งบอกว่ามีความคิดที่จะทำร้ายตนเอง และเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด พยายามไม่ให้คลาดสายตา พยายามหาคุณค่าในตัวผู้สูงอายุ และบอกให้ผู้สูงอายุรับทราบ รับฟังปัญหา โดยต้องเป็นผู้ฟังที่ดี หรือรีบพาไปพบแพทย์เพื่อช่วยกันวางแผนการดูแลผู้สูงอายุอย่างถูกต้อง

ทั้งนี้การเกิดภาวะซึมเศร้านั้นเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้งการทำงานของสมองเกิดสื่อประสาทไม่สมดุลย์ การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายและจิตใจ สังคม สภาพแวดล้อม ประสบการณ์การสูญเสีย ดังนั้นจำเป็นต้องบูรณาการการรักษาควบคู่กันหลายด้าน เพื่อให้ผู้สูอายุใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข และมีสุขภาพจิตที่ดีในบั้นปลาย

ขอขอบคุณข้อมูลจากกรมกิจการผู้สูงอายุ