เอาชนะภาวะ “เนือยนิ่ง” ด้วย 7 กิจกรรมทางสังคม สร้างความสุขให้ผู้สูงอายุ

เมื่ออายุเป็นเพียงตัวเลข เอาชนะภาวะ “เนือยนิ่ง” ด้วย 7 กิจกรรมทางสังคม สร้างความสุขให้ผู้สูงอายุ

พบว่า 10-20 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปีมีภาวะซึมเศร้าโดยเฉพาะผู้หญิง และยิ่งมีอายุมากความเสี่ยงก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้อัตราฆ่าตัวตายยังพบในผู้สูงอายุมากกว่าวัยอื่นๆ สะท้อนให้เห็นสภาพจิตใจที่ไม่มั่นคงของคนสูงวัย

การดูแลผู้สูงอายุจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากคนใกล้ชิด โดยลูกหลานควรพยายามปรับตัวเพื่อที่จะเข้าใจคนวัยนี้มากขึ้น สิ่งแรกที่แนะนำให้ทำคือทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกมีส่วนรวมกับครอบครัว โดยการใช้เวลาอยู่กับผู้สูงอายุพูดคุยและรับฟัง รวมถึงดูแลใส่ใจด้านสุขภาพ พาผู้สูงอายุในบ้านไปพบแพทย์

นอกจากการสนับสนุนภายในครอบครัวแล้ว สังคมภายนอกเองก็มีผลอย่างมาก ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่แต่ในบ้านมีแนวโน้มเกิด “ภาวะเนือยนิ่ง” คือมีความรู้สึกห่อเหี่ยว หดหู่

ดังนั้นการทำกิจกรรมต่างๆ ตามความสนใจจะสามารถช่วยเยียวยาจิตใจผู้สูงวัยได้มาก เพราะกิจกรรมทางสังคมจะทำให้ผู้สูงอายุได้พบปะกับผู้อื่นในวัยใกล้เคียงกัน ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ปรับตัวและยอมรับตัวเองได้ง่ายขึ้น สนับสนุนให้พวกเขามีความนับถือในตัวเอง ป้องกันการเกิดภาวะซึมเศร้า แนวทางการจัดกิจกรรมสังคมควรจะมีความหลากหลายและสามารถแก้ปัญหาของผู้สูงอายุได้ เช่น ช่วยดูแลสุขภาพ ทำให้จิตใจสดชื่น มีความภูมิใจในชีวิต จัดการกับสภาวะอารมณ์

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะนำกิจกรรมทางสังคมที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุในหลากหลายกิจกรรมดังนี้

 กิจกรรมรูปแบบออกกำลังกาย

ผู้สูงอายุควรมีกิจกรรมทางกายหรือออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน ครั้งละ 30 นาที หรือมีกิจกรรมทางกายสะสมรวม 150 นาที/สัปดาห์

คนใกล้ชิดอาจมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยเมื่อผู้สูงอายุทำกิจกรรมทางกาย แต่กิจกรรมนี้มีประโยชน์อย่างมากเพราะทำให้ได้เคลื่อนไหวร่างกาย เพิ่มความแข็งแรง ทนทาน เพราะสุขภาพกายมีผลต่อสุขภาพจิตโดยตรง

นอกจากนี้การออกกำลังกายยังกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) ซึ่งเป็นสารแห่งความสุขออกมา ช่วยลดความเครียด ความวิตกกังวลได้

การออกกำลังกายที่แนะนำสำหรับผู้สูงอายุ ได้แก่ เดินเร็วหรือเดินแกว่งแขนเร็วๆ ว่ายน้ำ รำมวยจีน ไทเก๊ก เต้นลีลาศ ถีบจักรยานอยู่กับที่ ยกน้ำหนักเบาๆ เพื่อเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแขน ขา บีบลูกบอลยางเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออุ้งมือ โยคะ หรือยืดเหยียดกล้ามเนื้อ

นอกจากนี้ยังสามารถผสมผสานกิจกรรมการออกกำลังกายเข้ากับเกมเพื่อเพิ่มความสนุกสนาน ผู้สูงอายุจะได้มีอารมณ์ขัน สุขภาพจิตดีขึ้น แต่ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์เพื่อความปลอดภัยด้วยเช่นกัน

กิจกรรมเผยแพร่ความรู้

“อาบน้ำร้อนมาก่อน” ข้อดีของผู้สูงอายุคือมีวุฒิภาวะและประสบการณ์อย่างมาก จึงสามารถเป็นที่ปรึกษา แบ่งปันความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ได้

กิจกรรมรูปแบบนี้จะช่วยให้ผู้สูงอายุได้ตระหนักถึงคุณค่าของตัวเองมากขึ้น ผู้สูงอายุบางท่านมีความสามารถในงานวิชาชีพ เช่น งานฝีมือ แกะสลัก ทำอาหาร ทำขนมสูตรโบราณ เย็บปักถักร้อย เป็นต้น การแบ่งปันความรู้เช่นนี้ไม่เพียงแต่ช่วยสืบทอดวิชาชีพให้คงอยู่ แต่ยังทำให้ผู้สูงอายุเกิดความภาคภูมิใจได้อีกด้วย

            กิจกรรมส่งเสริมความรู้ให้ผู้สูงอายุ 

ในทางกลับกันการให้ความรู้ใหม่ๆ กับผู้สูงอายุก็สามารถพัฒนาด้านจิตใจได้ ผู้สูงอายุจะได้มีงานอดิเรกทำในยามว่าง เช่น จัด Workshop สอนทักษะการถ่ายภาพ หรือสอนการใช้งานสื่อออนไลน์ เ

กิจกรรมการท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวไม่ใช่กิจกรรมสำหรับวัยรุ่นเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถให้ผู้สูงอายุได้เปิดหูเปิดตา พบเจออะไรใหม่ๆ มีความผ่อนคลาย ลดความเบื่อหน่ายได้อย่างมาก รูปแบบการท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุควรเน้นที่คุณภาพดี มีความคุ้มค่า คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ผสมผสานกับกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจ เช่น เรียนรู้วิถีชีวิตของคนท้องถิ่น ทัวร์ย้อนวันวาน ทัวร์อาหารอร่อย เป็นต้น

กิจกรรมตามประเพณีและศาสนา

เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเนื่องในเทศกาลสำคัญต่างๆ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ หลังจากลูกหลานต้องแยกย้ายกันทำงาน ในโอกาสนี้ควรกลับบ้านเพื่อเยี่ยมเยียนญาติผู้ใหญ่ นี่เป็นช่วงเวลาที่จะได้พบปะกับครอบครัว ใช้เวลาพร้อมหน้าพร้อมตาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันอย่างรดน้ำดำหัว

กิจกรรมพัฒนาสังคม

เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือสังคม เช่น ทำบุญตักบาตร ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ ช่วยเหลือเด็กยากไร้ บริจาคทรัพย์ ผู้สูงอายุสามารถใช้เวลาว่างเพื่อทำประโยชน์แก่ส่วนรวม ในขณะเดียวกันก็ส่งผลดีต่อผู้ให้ในแง่ทำให้จิตใจเบิกบาน มีความสุขกลับมาด้วย

กิจกรรมธรรมปฏิบัติ

การปฏิบัติธรรม เช่น สวดมนต์เพื่อระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ การถือศีล 5 หรือศีล 8 เป็นกิจกรรมที่ผู้สูงอายุมักจะปฏิบัติอยู่เป็นประจำ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้สำรวมกาย วาจา ใจ ฝึกกำหนดรู้ในทุกๆ อิริยาบถและลมหายใจ ธรรมะจึงเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจทำให้ผู้สูงอายุเข้าใจความเป็นไปของโลก ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น จึงเกิดความสุขสงบอย่างแท้จริง