โจทย์ใหม่สังคมสูงวัยหลังยุคโควิด-19 ตอนที่ 1

โจทย์ใหม่สังคมสูงวัยหลังยุคโควิด-19 ตอนที่ 1 : ภาพสะท้อนความพร้อม ก่อนเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสูงสุด

แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะสร้างผลกระทบในทุกมิติอย่างมหาศาล

แต่ในขณะเดียวกันวิกฤตในครั้งนี้ บางคนใช้เป็นโอกาสในการนำไปสู่มองย้อนกลับมาพิจารณาการเตรียมความพร้อมของตัวเองในสถานการณ์วิกฤต รวมไปถึงแนวความคิดใหม่ที่จะนำไปสู่ทางรอดในอนาคต

โดยเฉพาะการก้าวเข้าสูงวัยของไทย ที่ในขณะนี้ประเทศไทยมีผู้สูงอายุประมาณ 12 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18 ของประชากรทั้งหมด และคาดว่าอีก 20 ปีจากนี้ จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคน กลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (super aged society) ที่มีจำนวนผู้สูงอายุเกินร้อย 30 ของประชากรทั้งหมด

ศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องสังคมผู้สูงวัยมาอย่างต่อเนื่อง สะท้อนมุมมองถึงสังคมสูงวัยในยุคโควิด-19 ผ่าน The101.world

ศ.ดร.วรเวศม์ มองว่า มี4 โจทย์สำคัญ คือ 1. ทำอย่างไรให้สังคมสูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีในมิติต่างๆทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สุขภาพ สังคม สภาพแวดล้อมในบ้าน-นอกบ้าน และสภาพแวดล้อมของเมือง

2.จะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุในอนาคต ได้เตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมสูงวัย

3.ทำอย่างไรให้สังคมมีความ “กระปรี้กระเปร่า” ทำอย่างไรให้ประชากรทุนมนุษย์มีคุณภาพรองรับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยให้ได้

และ 4. ทำอย่างไรให้ระบบต่างๆโดยเฉพาะการเงินการคลังที่จะรองรับสังคมสูงวัย สร้างหลักประกันที่ครอบคลุมเพียงพอและยั่งยืนได้

ส่วนรัฐไทย “ตอบโจทย์” เหล่านี้ได้ดีมากน้อยเพียงใดนั้น ดร.วรเวศม์ มองว่า แม้ช่วงที่ผ่านมา แม้จะมีปัญหาความขัดแย้งมาตลอด แต่รัฐบาลก็ดำเนินการมาต่อเนื่องเป็น 10 ปี เพื่อรองรับกับสังคมสูงวัย โดยเฉพาะการทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี การรักษาพยาบาลด้วยระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่แม้ว่าจะมีความแตกต่างเหลื่อมล้ำกันในแต่ละระบบแต่ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้

การมีหลักประกันทางการเงินในยามชราภาพ ทั้งระบบบำนาญ ระบบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และกองทุนต่างๆ ซึ่งในระบบบำนาญและระบบเบี้ยยังชีพคนชราสามารถครอบคลุมผู้สูงวัยได้เกือบทั้งหมด อาจจะมีตกหล่นบ้าง เช่น คนชราที่อยู่ตัวคนเดียวและมีความแร้นแค้นมาก แต่จะเห็นได้ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็มีความพยายามที่จะดึงเข้าสู่ระบบให้ครบ

ปัญหาทางเศรษฐกิจเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ผู้สูงวัยมักจะเจอในช่วงบั้นปลายชีวิต เพราะผู้สูงวัยไม่มีเงินออมในยามชรา หรือส่วนใหญ่ใช้เงินออมไปลงทุนกับลูกเพื่อหวังว่าในอนาคตลูกจะดูแลเรา

แต่บางทีสิ่งหวังนี้อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นกับคนทั้งหมด แล้วผู้สูงวัยจะอยู่อย่างไรต่อไป ติดตามได้ในตอนที่ 2

อ่านต่อ โจทย์ใหม่สังคมสูงวัยหลังยุคโควิด-19 ตอนที่ 2 : จุดประกายใช้ NewNormalรับมือสังคมสูงวัย ส่งเสริม Work from home เปิดทางลูกดูแลพ่อ-แม่ ต่อยอดรถพุ่มพวง เพิ่มบริการทางสังคม

ขอบคุณข้อมูลจาก The101.world