มส.ผส.จัดเวที วิถีชีวิตใหม่สังคมผู้สูงอายุด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

มส.ผส.จัดเวที วิถีชีวิตใหม่สังคมผู้สูงอายุด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล นักวิชาการ ชงข้อเสนอนโยบายสวัสดิการพื้นฐานยุค5G  พร้อมคลอดกฎหมาย ปกป้องสิทธิผู้สูงอายุ ปิดทางถูกหลอกออนไลน์

เพราะอายุเป็นเพียงตัวเลข สำหรับการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆของผู้สูงอายุที่ผ่านมาเราจึงได้เห็นผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อย “ปรับตัว” ตามยุคสมัย เล่นไลน์ หรือ เฟซไทม์ เพื่อคุยกับญาติพี่น้อง ขณะที่บางคนใช้เทคโนโลยีในการอำนวยความสะดวกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกรถสาธารณะผ่านแอพพริเคชั่น หรือ ใช้เทคโนโลยีเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้ เช่น สมัครบริษัทขนส่งอาหารที่ให้บริการผ่านแอพพริเคชั่น เพื่อหารายได้และคลายเหงาในช่วงหลังเกษียณ

 

บริบทสังคมในขณะนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทกับการดำรงชีวิต มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดเวทีกลยุทธ์การขับเคลื่อนนโยบายสู่วิถีชีวิตใหม่ของสังคมผู้สูงอายุด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อนำเสนอและรับฟังความคิดเห็นต่อแนวนโยบายการสนับสนุนสังคมดิจิทัลในหมู่ผู้สูงอายุ

 

รศ.ดร. พนม คลี่ฉายา หน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้านความรอบรู้ทางดิจิทัลและการรู้ทันสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีข้อเสนอทางนโยบาย 2 ด้าน คือ  แนวนโยบายสวัสดิการพื้นฐานด้วยเทคโนโลยีและคุณภาพชีวิตในสังคมผู้สูงอายุยุค 5G ประกอบไปด้วย การจัดสวัสดิการสนับสนุนค่าใช้จ่ายควบคู่กับการพัฒนาเครือข่ายการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสำหรับผู้สูงอายุ ผ่านการกำหนดให้ผู้สูงอายุสามารถใช้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพิ่มความสามารถในการใช้เทคโนโลยีควบคู่กับความรอบรู้ทางดิจิทัลและการรู้เท่าทันสื่อ ผ่านการจัดการเรียนรู้หลักสูตรที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุผ่านช่องทางเรียนรู้เดิม เช่น โรงเรียนผู้สูงอายุ การอบรมโดยชมรม หรือมูลนิธิผู้สูงอายุ

ปกป้องสิทธิและความปลอดภัยบนสื่อออนไลน์สำหรับผู้สูงอายุ ผ่านการกำหนดมาตรการทางกฎหมาย หรือระเบียบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสิทธิผู้บริโภคและกิจการผู้สูงอายุ เพื่อปกป้องสิทธิและความปลอดภัยในการใช้งานสื่อออนไลน์ของผู้สูงอายุ และจัดตั้งศูนย์หรือหน่วยงานเฉพาะกิจเพื่อรับเรื่องร้องเรียน ดำเนินการตรวจสอบ ช่วยเหลือ แก้ไข และเยียวยาผู้สูงอายุแบบครบวงจร

ส่งเสริมการออกแบบและผลิตอุปกรณ์รวมถึงแอปพลิเคชันที่ง่ายต่อการใช้งานของผู้สูงอายุ และ ส่งเสริมการสร้างสรรค์เนื้อหาเกี่ยวกับพฤติพลังสำหรับผู้สูงอายุบนแพลตฟอร์มออนไลน์

ส่วนอีกหนึ่งข้อเสนอคือแนวนโยบายด้านความมั่นคงในชีวิตผู้สูงอายุด้วยเทคโนโลยี ที่มีความจำเป็นต้องพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีให้เอื้อต่อการประกอบอาชีพแบบใหม่ ด้วยการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจออนไลน์สำหรับผู้สูงอายุ เพื่อช่วยสร้างทักษะผู้ประกอบการออนไลน์ รวมถึงการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะเพื่อหางานให้กับผู้สูงอายุด้วย

ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่านสื่อออนไลน์ ,สร้างแพลตฟอร์มร้านออนไลน์เป็นช่องทางทางการตลาดให้แก่ผู้สูงอายุ และจัดให้เกิดการจ้างงานผู้สูงอายุเพื่อทำงานในเศรษฐกิจดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น และส่งเสริมสตาร์ทอัพและการทำงานอิสระผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้สูงอายุได้พบกับช่องทางการหางานและฝ่ายผู้จ้างเองก็มีช่องทางในการพบปะตลาดงานของผู้สูงอายุมากขึ้น

ข้อเสนอเหล่านี้ถูกอภิปรายโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ไว้อย่างน่าสนใจ โดยผศ.ดร. ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ มองว่า แผนพัฒนาทักษะดิจิทัลของผู้สูงอายุในตอนนี้นั้นเกิดการแยกและแย่งกันทำงานระหว่างหน่วยงานสูงมาก แต่หากประสานให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานได้ก็จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น

ขณะเดียวกัน กสทช. มีความตั้งใจที่จะสนับสนุนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ไปพร้อมกันกับความเชี่ยวชาญในการใช้งานของผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน

ส่วนประเด็นการเท่าทันดิจิทัลของผู้สูงอายุ เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีความสำคัญ โดย “ศิริลักษณ์ มีมาก” ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ เห็นว่าความสามารถในการเท่าทันดิจิทัลก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง ไม่แพ้กับการจัดสวัสดิการพื้นฐานด้านดิจิทัลให้ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมและการค้าขายออนไลน์ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวงได้สูงมาก

ด้าน “ธนากร พรหมยศ” ผู้ร่วมก่อตั้งธุรกิจเพื่อสังคม ยังแฮปปี้ (Young Happy) มองออกเป็น2 มุม คือ เราต้องแยกประเด็นเรื่องปัญหาทางเทคโนโลยีกับกลุ่มผู้สูงอายุออกจากกัน เนื่องจากปัญหาเหล่านี้สามารถเกิดได้กับคนทุกวัย การเตรียมความพร้อมผู้สูงอายุเข้าสู่สังคมดิจิทัลจึงควรปราศจากอคติทางอายุ

อีกทั้งไม่ควรยัดเยียดโลกดิจิทัลให้ผู้สูงอายุทุกคนเนื่องจากอาจจะมีคนไม่พร้อมหรือไม่อยากเข้าสู่เทคโนโลยี ข้อเสนอและการอภิปรายเหล่านี้จะนำไปสู่การเตรียมพร้อมสู่สังคมสูงอายุดิจิทัลตามกระบวนทัศน์พฤติพลังของผู้สูงอายุ (Active and Productive Aging) ที่จะทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพกาย จิต และชีวิตประจำวันที่ดี การมีส่วนร่วมกับครอบครัว ชุมชนและสังคม การมีความมั่นคงทางรายได้และที่อยู่อาศัย ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมตามช่วงวัย