ทิศทางการขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุภายใต้ความท้าทายใหม่สถานการณ์โควิด-19 ตอนที่ 1 : สำรวจโอกาส-ข้อจำกัด
ก่อนที่จะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสมบูรณ์ในปีหน้า ไทยกลับต้องเผชิญกับความท้าทายแบบไม่ทันตั้งตัวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 วิกฤติครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนงานด้านสูงอายุอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่ขณะเดียวกันได้นำไปสู่การทบทวนและปรับปรุงแนวทางเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงกับปกติวิถีใหม่ หรือ New normal ภายใต้เป้าหมายเดียวกันนั่นก็คือ การออกแบบการขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุ ให้ตอบสนองทันต่อการเปลี่ยนแปลง มีการให้ความรู้และข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว เตรียมการให้ผู้สูงอายุรับรู้และยอมรับการเปลี่ยนแปลง รวมถึงสร้างแอพพลิเคชั่น หรือเทคโนโลยีที่เป็นอุปกรณ์สำคัญ ให้ผู้สูงอายุสามารถใช้งานง่ายสะดวก และราคาสามารถจับต้องได้
อย่างไรก็ตามสถานการณ์โควิด-19ส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุด้วยกัน 4 ด้าน คือ เศรษฐกิจ ที่ผู้เกื้อหนุนรายได้ให้กับผู้สูงอายุมีศักยภาพในการเกื้อหนุนลดลงทางด้านเศรษฐกิจ ด้านสุขภาพจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ของไทยพบว่ากว่า 40% ของผู้เสียชีวิตเป็นผู้สูงอายุ ด้านสังคม ผู้คนออกจากบ้านน้อยลงส่งผลต่อการขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุในเรื่องการมีส่วนร่วมกิจกรรมนอกบ้าน ในขณะที่ผู้สูงอายุอาจอยู่ลำพังมากขึ้นและมีโอกาสถูกหลอกลวงได้ง่ายขึ้นการติดต่อสื่อสารระหว่างครอบครัวลดลง
และด้านเทคโนโลยี สังคมดิจิทัล และการเกิดโควิด-19 ทำให้ภาคธุรกิจเร่งปรับตัวด้วยการใช้เทคโนโลยีในการทำธุรกิจมากขึ้น คนทุกวัยใช้เทคโนโลยีในการทำธุรกรรมต่างๆบนออนไลน์ และใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันมากขึ้น ผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีข้อจำกัดในการใช้เทคโนโลยี จึงต้องเตรียมตัวมากขึ้นในการเรียนรู้ในการใช้เทคโนโลยีต่างๆเพื่อการดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ
นอกจากนี้ยังพบว่า สถานการณ์โควิด-19 นำมาซึ่งโอกาสและข้อจำกัดต่อการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุดังนี้
ด้านสุขภาพ
โอกาส – ทำให้ผู้สูงอายุตื่นรู้และตระหนักกับเรื่องสุขภาพมากขึ้น เป็นโอกาสที่จะเร่งปรับกลยุทธ์การดูแลสุขภาพได้ง่ายกว่าการดำเนินงานในอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะสิทธิการรักษาพยาบาล หรือสิทธิด้านอื่นๆ สร้างโอกาสให้มีการเตรียมตัวเป็นหรือเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาวะดี ทั้งการจัดการตนเองของผู้สูงอายุและการสร้างนโยบายส่งเสริมที่เป็นรูปธรรม
ข้อจำกัด – การที่ต้องมีระยะห่างทางสังคม ส่งผลต่อระบบบริการสุขภาพเข้าถึงผู้สูงอายุโดยตรงได้ยากขึ้น ทำให้การทำงานในระดับปฏิบัติการหรือระดับบริการ มีข้อจำกัด เช่น ระบบการดูแลระยะยาว หรือ LTC ที่ต้องมีการสัมผัสช่วยเหลือใกล้ชิดในผู้สูงอายุติดเตียง ทำให้การช่วยมีความยากลำบากมากขึ้น แต่ก็เป็นโอกาสที่จะพัฒนาวิธีการใหม่ๆในการดูแล
รวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่ยังมีข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศ คือ ระบบ Internet/WiFi รัฐยังไม่ได้จัดให้เป็นบริการที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
ด้านเศรษฐกิจและสังคม
ข้อจำกัด – การจ้างงานผู้สูงอายุได้รับผลกระทบเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ตามมาจากโควิด-19 และด้วยข้อจำกัดทั้งทางร่างกาย ทักษะการทำงาน และทักษะทางเทคโนโลยี ยิ่งทำให้โอกาสจ้างงานลดลง ระบบการช่วยเหลือทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ ไม่สามารถรองรับกับผู้สูงอายุในเขตเมืองใหญ่ เนื่องจากขาดข้อมูลที่จะบ่งชี้ถึงกลุ่มเสี่ยง ขาดระบบการช่วยเหลือที่มีบูรณาการ
– ผู้สูงอายุขาดโอกาส หรือโอกาสในการมีส่วนร่วมกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจของผู้สูงอายุลดลง ไม่สามารถออกไปร่วมกิจกรรมหรือทำงานนอกบ้านได้ และผู้สูงอายุบางคนยังไม่เข้าถึงการใช้เทคโนโลยีและการทำกิจกรรมด้วยระบบออนไลน์ อาจส่งผลกระทบไปยังสุขภาพจิตทำให้ตนเองรู้สึกเหงา ไร้คุณค่า อาจกลายเป็นโรคซึมเศร้า
ด้านเทคโนโลยี
โอกาส – สถานการณ์โควิด-19 สร้างโอกาสในการเร่งให้ผู้สูงอายุใช้ ICT technology ในการติดต่อสื่อสารกับลูกหลานและสมาชิกในครอบครัว รวมทั้งใช้ ICT technology ในการสร้างความสัมพันธ์กันภายในกลุ่ม จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะใช้วิกฤตินี้เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติของเทคโนโลยีและชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติภายใต้ New Normalโดยเฉพาะทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขั้นพื้นฐาน (digital literacy)
-ก่อให้เกิดโอกาสการทำงานทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้น โดยเฉพาะทางสมาร์ทโฟน ซึ่งมีการใช้อยู่ทั่วไป ขณะเดียวกันนโยบายภาครัฐ ระบบการดำเนินธุรกรรมกับธนาคาร ได้มีการนำเทคโนโลยีทางการสื่อสารมาใช้ ทำให้ประชาชนตื่นตัวในการใช้เทคโนโลยีกันมากขึ้น โดยข้อจำกัดอาจมีในระยะแรกที่ใช้กันไม่ค่อยเป็น แต่ก็ถูกบังคับเร่งรัดจากสถานการณ์ที่ต้องปรับตัว (disruption) ให้สามารถใช้งานได้
– เป็นความจำเป็นที่จะต้องปรับวิธีการและรูปแบบการทำงานใหม่ที่ไปสู่การใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ เนื่องจากการทำงานด้านผู้สูงอายุยังเป็นการรวมศูนย์จากส่วนกลางเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่สามารถสนองความต้องการของผู้สูงอายุในพื้นที่ได้อย่างสอดคล้องและทันกาล จึงเป็นโอกาสดีที่จะผลักดันเรื่องการดูแลผู้สูงอายุในระดับปฏิบัติการหรือระดับบริการให้ไปอยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทำงานเชิงรุกมากขึ้นเพื่อเข้าถึงผู้สูงอายุ ทั้งในการลงพื้นที่และการใช้เทคโนโลยีสนับสนุน
– ดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยทำให้ผู้สูงอายุสามารถเรียนรู้ข้อมูลข่าวสาร และการประกอบอาชีพในวงกว้างและรวดเร็ว
ที่มา : สรุปคำตอบในแบบสอบถามจาก 11 ผู้ทรงคุณวุฒิในงานด้านผู้สูงอายุ โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ภายใต้โครงการขับเคลื่อนกลยุทธ์เพื่อพัฒนางานด้านผู้สูงอายุและการสื่อสารสาธารณะเพื่อรองรับสังคมสูงอายุ พ.ค.2563
ติดตามต่อ : ทิศทางการขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุภายใต้ความท้าทายใหม่สถานการณ์โควิด-19 ตอนที่ 2