ทิศทางการขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุภายใต้ความท้าทายใหม่สถานการณ์โควิด-19 ตอนที่ 2

ทิศทางการขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุภายใต้ความท้าทายใหม่สถานการณ์โควิด-19 ตอนที่ 2 : เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  นำไปสู่การปรับปรุงแนวทางการทำงานด้านผู้สูงอายุ ให้รองรับกับกระแสของความปกติใหม่เฉพาะอย่างยิ่งในปี 2564 สังคมไทยจะก้าวสู่การเป็นสังคมสูงอายุระดับสมบูรณ์ ดังนั้นงานด้านผู้สูงอายุจะต้องมีการเตรียมความพร้อมให้มันต่อสถานการณ์โดยทิศทางการทำงานด้านผู้สูงอายุ ภายใต้ความท้าทายใหม่ใน 4ด้าน คือ

“สุขภาพ”  ไทยกำลังถูกท้าทายจากโรคระบาด สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การพัฒนาการรักษาในรูปแบบการแพทย์ทางไกล (telemedicine) ช่วยให้ผู้สูงอายุหรือผู้ที่เข้ารับบริการทางแพทย์สามารถติดต่อและรับการรักษาผ่านระบบ video conference ได้แบบ real-time ที่บ้าน  ซึ่งมีข้อดีคือประหยัดเวลาไม่จำเป็นต้องเสียเวลาในการเดินทางและการรอตรวจ ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดต่อ และสามารถติดตามผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาล เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน หอบหืด ได้ โดยในปัจจุบันเริ่มมีสถานพยาบาลบางแห่งนำรูปแบบ drive thru มาให้บริการแล้ว

ดังนั้นรูปแบบการบริหารจัดการด้านสุขภาพอาจเปลี่ยนแปลงจากต้องเดินทางมารับการรักษาที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลอาจลดลง  รวมถึงการออกแบบกิจกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงอายุ และบริบทแวดล้อมในแต่ละพื้นที่เพื่อให้สอดรับกับความตื่นตัวในการดูแลสุขภาพ

ด้านเศรษฐกิจ อาจมีการกระจายงานสู่บ้านสู่ชุมชนมากขึ้น และการแพร่ระบาดของโควิด-19นี่เอง ทำให้ลูกหลานหลายคนหันกลับมาทำงานในท้องถิ่น ได้อยู่กับผู้สูงอายุมากขึ้น ดังนั้นควรมีการส่งเสริมภูมิปัญญาที่มีค่าของผู้สูงอายุ และศักยภาพของครอบครัวให้ทำงานหรือสร้างรายได้ร่วมกันได้มากขึ้น

ด้านเทคโนโลยี ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมไร้เงินสด การทำธุรกรรมออนไลน์จะกลายเป็นเรื่องปกติแทนที่การใช้เงินสดซึ่งผู้สูงอายุจะต้องเรียนรู้เพื่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างสะดวกขึ้นในอนาคต

ดังนั้นทิศทางการทำงานด้านผู้สูงอายุบนความท้าทายใหม่ ต้องมุ่งไปสู่การทำงานที่อาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุมีความสามารถในการใช้ระบบออนไลน์มากขึ้น ที่สำคัญจะต้องรู้เท่าทันสื่อด้วย

ขณะที่เครือข่ายผู้ทำงานด้านผู้สูงอายุ จะต้องพัฒนาการสื่อสารผ่านระบบสื่อหรือออนไลน์ และใช้เทคโนโลยีด้านเครื่องมือสื่อสารในการทำงานให้มากขึ้น

และด้านสังคม  วิถีชีวิตและพฤติกรรมการใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไป ผู้คนหันมาทำกิจกรรมผ่านทางออนไลน์ และใช้เวลาในโลกออนไลน์ยาวนานขึ้น ซึ่งผู้สูงอายุเองก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและใช้เทคโนโลยีให้เป็น  นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นต้องออกแบบและปรับกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนรูปแบบและกิจกรรมใหม่ให้ผู้สูงอายุได้มีการรวมกลุ่มในรูปแบบใหม่บนสังคมดิจิทัลให้มากขึ้น

หรือหากต้องการให้ผู้สูงอายุได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมแบบใหม่ อาจอยู่ในรูปแบบของเสียงตามสายของชุมชน ร่วมกิจกรรมบ้านตัวเองเพื่อความปลอดภัย แต่ยังคงมีการติดต่อกันระหว่างสมาชิกในชุมชน

ขณะที่บทบาทครอบครัว สมาชิกครอบครัวเกื้อหนุนผู้สูงอายุลดลงเนื่องจากภาวะทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ชุมชนจึงมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการสนับสนุนผู้สูงอายุ หรือสนับสนุนให้สมาชิกครอบครัวให้ดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ต้องคำนึงถึงประเด็นที่ผู้สูงอายุอาจถูกหลอกลวง หรือได้รับข่าวสารที่ไม่จริง ได้ง่ายขึ้น

 อย่างไรก็ตามการเตรียมความพร้อมรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อการขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุเป็นสิ่งสำคัญ โดยผู้ทรงคุณวุฒิในงานด้านสูงอายุ เห็นว่า ควรจะต้องมีการเตรียมความพร้อมดังนี้

  1. การพัฒนาศักยภาพของผู้สูงอายุ: เร่งเพิ่มความรอบรู้ในทุกมิติให้แก่ผู้สูงอายุ และผู้ที่จะเป็นผู้สูงอายุในอนาคต การเพิ่มทุนมนุษย์ด้วยการศึกษาต่อเนื่องตลอดชีวิตในหลากหลายรูปแบบเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนงานลดความเหลื่อมล้ำทั้งในด้านความรู้  เศรษฐกิจ และการเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะผู้สูงอายุในวัย 60-75 ปี ซึ่งส่วนใหญ่พบว่ามีการใช้โทรศัพท์ Smart phone อยู่แล้ว ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นช่องทางในการสร้างความรู้ทางการสื่อสารได้
  2. การพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายผู้สูงอายุ: การทำงานด้านผู้สูงอายุ หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะวิทยากรในการฝึกอบรม สร้างองค์ความรู้ ปรับเปลี่ยนทัศนคติในการทำงาน จากการเป็นผู้สอน ให้เป็นผู้แนะแนว เป็นผู้นำให้กลุ่มเป้าหมายเกิดกระบวนการคิดในการทำงาน

ลดการทำงานจากระบบสั่งการให้เกิดงานตามนโยบายจาก “บนสู่ล่าง” ซึ่งผลที่ได้มักมีแต่โครงสร้าง ที่อาจตอบโจทย์ให้กับผู้กำหนดนโยบาย แต่อาจไม่สนองต่อการแก้ปัญหากับกลุ่มเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม และงานมักจะหยุดลงเมื่อจบโครงการ หรือไม่มีเจ้าหน้าที่ภาครัฐเข้าไปทำงานด้วย

ในทางกลับกัน สร้างกระบวนการทำงานจาก “ล่างสู่บน” โดยใช้กระบวนการ “นำให้เขาคิด” ไม่ “คิดนำเขา” ผลประโยชน์จะได้กับกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง อันจะนำมาซึ่ง การมีส่วนร่วมของชุมชน (Community Participation) และนำไปสู่ความยั่งยืนของงาน (Sustainability)

นอกจากนี้ควรมีนโยบายและระบบสนับสนุนท้องถิ่น ชุมชน รวมถึงกระจายภารกิจให้ท้องถิ่นชุมชนเพื่อเพิ่มบทบาทชุมชนให้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุมากขึ้น

ขณะเดียวกันต้องแสวงหาวิธีการทำงานรูปแบบใหม่ที่เหมาะสมกับการดำเนินงานกับกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชน หรือหา platform ใหม่ๆ อีกทั้งต้องศึกษาหาความรู้ที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุทุกมิติและค้นหาให้ได้ว่าอะไรที่ยังเป็นช่องว่างที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพื่อออกแบบแนวทางการทำงานในระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติการ หรือระดับบริการ ในการขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุ

 และปรับแนวคิดการทำงาน “โรงเรียนผู้สูงอายุ” ให้ก้าวข้ามการติดยึดกับคำว่า “โรงเรียน” หรือ “มหาวิทยาลัย” ซึ่งต้องมีหลักสูตรการเรียนการสอนในแบบระบบของโรงเรียนจากองค์การภายนอก ให้เป็นการสอนตามความจำเป็นในการดำรงชีวิตในปัจฉิมวัย

  1. การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ:  หน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง จะต้องมีการขับเคลื่อนงานบูรณาการตั้งแต่ข้อมูลสารสนเทศเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการวิเคราะห์กำหนดทิศทางการทำงาน กำหนดเป้าหมายร่วมและมีการสร้างขับเคลื่อนสู่เป้าหมายเดียวกันและร่วมกันอย่างแท้จริง และมีแผนปฏิบัติสู่ระดับชุมชน ท้องถิ่น

ส่วนผู้ปฏิบัติงานต้องปรับตัวในด้านการดำเนินงาน การสื่อสารระยะไกล การใช้เทคโนโลยีมาช่วย อาทิ teleconference  หรือการประสานงานส่งต่อข้อมูลโดยไม่ต้องลงพื้นที่ และส่งเสริมการวิจัย การศึกษาการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุ     การสร้างแอพพลิเคชั่นในการใช้งานอย่างง่าย สะดวก ราคาถูกหรือไม่แพงมากเพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าถึง และจัดบริการรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต และส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเรียนรู้ในการใช้เทคโนโลยี

ขณะเดียวกันการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ต้องคำนึงถึงประเด็นที่ผู้สูงอายุอาจถูกหลอกลวง หรือได้รับข่าวสารที่ไม่จริงได้ง่ายขึ้น ต้องสร้างระบบเฝ้าระวัง รวมถึงการจัดทำมาตรฐานแหล่งข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือไว้สำหรับผู้สูงอายุตรวจสอบเพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง

นอกจากนี้ควรส่งเสริม สนับสนุน และนำทรัพยากรของภาครัฐในพื้นที่ เช่น ครู กศน. ให้นำความรู้และเทคโนโลยีในการสร้างองค์ความรู้ให้กับประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

                และสุดท้ายคือการแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานและการกำหนดเป้าหมายร่วมจากฐานข้อมูลที่มีการจัดทำสารสนเทศเพื่อการวิเคราะห์ ออกแบบงานในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ภาพรวมของการขับเคลื่อนงานต่อจิ๊กซอว์เป็นภาพเดียวกันได้โดยสมบูรณ์

โดยคำนึงถึงประโยชน์ผู้สูงอายุและความสำเร็จของการขับเคลื่อนงานของประเทศไทยเป็นสำคัญ

ที่มา : สรุปคำตอบในแบบสอบถามจาก 11 ผู้ทรงคุณวุฒิในงานด้านผู้สูงอายุ โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ภายใต้โครงการขับเคลื่อนกลยุทธ์เพื่อพัฒนางานด้านผู้สูงอายุและการสื่อสารสาธารณะเพื่อรองรับสังคมสูงอายุ พ.ศ.2563 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ขอขอบคุณภาพประกอบจากสสส.