พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ กรรมการมส.ผส.ร่วมพูดคุยกับรายการ”ชาญชรา” ประเด็นการทำงานของผู้สูงอายุ

มส.ผส. ชี้ ข้อดีผู้สูงอายุยังทำงาน ทำให้ไม่อับเฉาสร้างประโยชน์ให้สังคม ชี้ ไม่ใช่ของโบราณวางไว้บนหิ้ง แนะเก็บออมตั้งแต่วัยทำงาน เรียนรู้ตลอดชีวิต ดูแลสุขภาพออกกำลังกาย หนทางสู่บั้นปลายอย่างมีความสุข

พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ กรรมการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมที่จะเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ผ่านรายการ “ชาญชรา” ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2548 โดยมีประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปี ในสัดส่วนเกินร้อยละ 10 ของจำนวนประชากร จากนั้นอัตราเร่งของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์เป็นไปด้วยความรวดเร็วมาก โดยนักพยากรณ์คาดว่าในปี 2564 -2565 ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ คือมีประชากรผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์คือเกินร้อยละ 20 ขึ้นไปหรือคิดเป็น 1ใน5 ของประชากร และจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสุดยอดเหมือนประเทศญี่ปุ่น หรือ ร้อยละ 27 ของประชากรทั้งประเทศในปี 2574-2577

“ดังนั้นจะต้องมีการเตรียมความพร้อมหลายอย่าง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเดินหน้าไปหลายประเด็นแล้ว จากการศึกษาวิจัยที่มส.ผส.ได้จัดทำ ตามแผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่สองเป็นธงนำในปี 2549-2550  ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง กองทุนการออมแห่งชาติ ที่ได้หลายฝ่ายมาร่วมมือกัน รวมถึงพัฒนารูปแบบและกลไก ในการส่งเสริมการออมให้เริ่มตั้งแต่อยู่ในวัยแรงงานเพราะว่าจะมาเตรียมความพร้อมตอนสูงอายุก็จะไม่ทันแล้ว”

 

พญ.ลัดดา กล่าวว่า อีกประเด็นที่ได้รับการตอบรับจากสังคมมาก คือ ระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่ติดบ้านติดเตียง ที่ทุกคนเห็นความสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิง ว่าจะต้องมีระบบรองรับเพราะเป็นการดูแลกันชั่วชีวิต ไม่สามารถนำผู้สูงอายุไปไว้ที่โรงพยาบาลได้ตลอด นอกจากนี้ยังมีแนวคิดการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้ทำงาน เพราะวันนี้ผู้มีอายุ 60 -70 ปี ยังมีสุขภาพที่แข็งแรงและมีประโยชน์ต่อสังคมอยู่

 

“ผู้สูงอายุในวัยนี้ ยังสามารถยังประโยชน์ต่อสังคมได้ ไม่ใช่ของโบราณวางไว้บนหิ้ง ดังนั้นการขับเคลื่อนของนโยบาย ก็จะเห็นคุณค่าศักยภาพของผู้สูงอายุ ด้วยการผลักดันให้ผู้สูงอายุมีงานทำงาน ทั้งการทำงานเพื่อจะมีรายได้มายังชีพ หรืออาจจะเป็นการทำงานเพื่อที่จะทำให้ตัวเองมีคุณค่า มีประโยชน์ต่อสังคม ไม่อับเฉาอยู่แต่ในบ้าน ซึ่งถ้านานไปจะมีปัญหาเรื่องสุขภาพจิต ดังนั้นจะต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนที่จะเข้าสู่สูงอายุ ว่าเราจะทำงานอย่างไร ต้องมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อที่จะเพิ่มเสริมทักษะใหม่ๆในการที่จะทำงานในวัยสูงอายุ”

 

พญ.ลัดดา ยังระบุด้วยว่า เรื่องการดูแลสุขภาพก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากดูแลสุขภาพ มีวินัยในการออกกำลังกาย  รับประทานอาหารที่เหมาะสมมีคุณค่าทางโภชนาการก็จะทำให้เรามีสุขภาพดีในบั้นปลายชีวิต  ส่วนความคิดของบางครอบครัวที่ต้องการให้ผู้สูงวัยอยู่ในการดูแลของบ้านพักคนชรานั้น ยืนยันว่า ผู้สูงอายุจะมีชีวิตชีวามีความสุขเมื่อได้อยู่กับครอบครัว สถาบันครอบครัวมีความสำคัญต่อผู้สูงอายุทั้งการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิต เพราะฉะนั้นการส่งเสริมสถาบันครอบครัวให้มีการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้สูงอายุกับวัยรุ่นก็จะเป็นผลดีที่จะนำมาสู่การดูแลซึ่งกันและกันต่อไป

สามารถคลิกรับชมรายการฉบับเต็มได้ที่ลิงค์ดังกล่าวนี้ https://youtu.be/f5rrTJdxklE