กางสถิติ พบ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปยังทำงานอยู่กว่าร้อยละ 34 แต่มีแนวโน้มลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ ในภาคเกษตร
แม้ว่าจะเริ่มนับถอยหลังการเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 แต่การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ของประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่น้อย โดยเฉพาะการจ้างงานผู้สูงอายุ ที่ในปัจจุบันมีจำนวนผู้สูงอายุคิดเป็นร้อยละ 17 ของประชากรทั้งหมด
ผลการวิจัย “สถานการณ์และแนวโน้มสภาพการทำงานของผู้สูงอายุไทย: การวิเคราะห์จากข้อมูลการสำรวจระดับประเทศ” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ นางสาวสุภรต์ จรัสสิทธิ์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัย โดย มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย(มส.ผส.) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พบว่า ในปี 2562 มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ยังคงทำงานอยู่ประมาณ1ใน3 หรือร้อยละ 34.5
ตามช่วงอายุที่เพิ่มขึ้นสัดส่วนของประชากรที่ยังทำงานมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะช่วงอายุระหว่าง 55- 59 ปีกับ 60 – 64 ปี มีการลดลงของสัดส่วนผู้มีงานทำมากเกือบร้อยละ 22
โดยผู้สูงอายุที่ยังคงทำงาน ส่วนใหญ่ร้อยละ 62.1 ประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้าง รองลงมาร้อยละ 20.4 ช่วยธุรกิจครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้าง และร้อยละ 8.9 เป็นลูกจ้างภาคเอกชน
ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรมร้อยละ 60.3 รองลงมาภาคการบริการและการค้าร้อยละ 32.1 และภาคการผลิตร้อยละ 7.6
ผู้สูงอายุที่ทำงานส่วนใหญ่ร้อยละ 58.7 มีอาชีพผู้ปฎิบัติงานที่มีฝีมือในด้านการเกษตร ตามมาด้วยร้อยละ 18.7 เป็นพนักงานบริการและผู้จำหน่ายสินค้า และร้อยละ 8.3 เป็นช่างฝีมือและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง
โดยผู้สูงอายุทำงานเฉลี่ยสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง มีรายได้ต่อเดือนเฉลี่ย 11,877 บาท ซึ่งแรงงานสูงอายุชายจะมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าหญิงเล็กน้อย โดยชายมีรายได้เฉลี่ย 12,273 บาท ขณะที่หญิง 11,188 บาท และยังพบว่าเขตเมืองมีรายได้สูงกว่าชนบท โดยเขตเมืองมีรายได้เฉลี่ย 14,313 บาท ขณะที่เขตชนบทมีรายได้ 9,723 บาท โดยกรุงเทพมหานครมีรายได้สูงกว่าภูมิภาคอื่นประมาณสองเท่าหรือมากกว่า
ผลการวิจัยยังพบด้วยว่ารายได้เฉลี่ยต่อเดือนตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไปจะเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากประมาณ 13,000 บาทในช่วงอายุ 60-64 ปี เหลือประมาณหรือต่ำกว่า 10,000 บาทในช่วงอายุ 65 ปีขึ้นไป
การทำงานของประชากรสูงอายุ 50-59 ปี ส่วนใหญ่ร้อยละ 67 อยู่ในภาคนอกระบบ ซึ่งสัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนโดยพบว่าแรงงานที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะอยู่ในภาคนอกระบบถึงร้อยละ 88
สำหรับสถิติของผู้สูงอายุที่ไม่ทำงานนั้น งานวิจัยพบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 67.4 มีเหตุผลจากความชราเป็นหลัก รองลงมาคือทำงานบ้านร้อยละ 15.4 และเกษียณอายุหรือพักผ่อนร้อยละ 10.5
งานวิจัยยังพบด้วยว่าผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าครึ่งหนึ่งมีรายได้เพียงพอ ยกเว้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้ที่มีรายได้เพียงพอและต้องการทำงานมีสัดส่วนลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ขณะที่กรุงเทพมหานครหรือเขตเมืองมีสัดส่วนของการมีรายได้เพียงพอและไม่ต้องการทำงานสูงกว่าเขตที่อยู่อาศัยอื่น และกรุงเทพมหานคร เข้าถึงแรงงานได้มากกว่าภูมิภาคอื่น
ส่วนทำงานและมีความสุขหรือไม่นั้น พบว่าแรงงานมีความสุขมากในช่วงก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ และเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุแล้วยังคงมีสัดส่วนที่มีความสุขมากกว่า 1ใน5 และเริ่มลดลงไม่ถึงร้อยละ 10 เมื่อเข้าสู่อายุ 70 ปีขึ้นไป
ในช่วงอายุ 60 ถึง 69 ปีแหล่งรายได้หลักยังคงมาจากการทำงาน และมีแนวโน้มลดลงเมื่อเข้าสู่อายุ 70 ปีขึ้นไป ผู้สูงอายุพึ่งพิงรายได้จากบุตรมากขึ้นเมื่ออายุสูงขึ้น โดยในผู้สูงอายุ 70 ถึง 79 ปีมีสัดส่วนรายได้จากบุตรร้อยละ 43 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 49 ในผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป
และเมื่อเปรียบเทียบกับแนวโน้มของสถานภาพการทำงานของผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2547 -2562 พบว่าการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของผู้สูงอายุไทยมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับในอดีต
เหล่านี้คือสถิติที่จะถูกนำมากำหนดแนวทางรับมือและจัดการกับผลกระทบจากสภาพสังคมสูงอายุเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ รองรับสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์
ไปร่วมหาคำตอบด้วยกันใน เวทีเสวนาระดมความเห็น “โควิด – 19 : ผลกระทบต่อการจ้างงานผู้สูงอายุและการเตรียมพร้อมสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์” วันที่ 21 สิงหาคม 2563 เวลา 9.00-12.00 น. ณ ห้องบุษบา ชั้น 1 โรงแรมแมนดาริน ถนนพระรามที่ 4 กรุงเทพฯ ซึ่งภายในงานจะมีการ.นำเสนอข้อค้นพบทางวิชาการในประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้ 1.สถานการณ์ปัจจุบันกำลังแรงงานของกลุ่มผู้สูงอายุ โดย ผศ.ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล 2.ผลกระทบโควิด-19 ผลกระทบต่อตลาดแรงงานในปัจจุบันและอนาคต โดย ดร.นณริฏ พิศลยบุตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) 3 ขีดความสามารถและประสิทธิภาพของแรงงานผู้สูงอายุในการสร้างสรรค์เศรษฐกิจไทยโดย ดร.ชลธิชา อัศวนิรันดร วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4.การจ้างงานต่อเนื่องหรือการขยายอายุการทำงาน ความคาดหวังที่รอคอย โดย ศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ5 การเปลี่ยนผ่านด้านการทำงานของแรงงานจากในระบบสู่นอกระบบ เตรียมพร้อมก่อนสูงอายุ โดย ดร.มนทกานต์ ฉิมมามี สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อ่านต่อ : ปัญหาและทางออกการทำงานผู้สูงอายุไทย