เปิดเวทีเสวนาหาแนวทางการเตรียมพร้อมสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์จากพิษโควิด-19

หน่วยงานที่ทำงานด้านผู้สูงอายุหลากหลายองค์กรเปิดเวทีเสวนาหาแนวทางการเตรียมพร้อมสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์จากพิษโควิด-19  ขณะที่หลากนักวิชาการร่วมระดมความเห็นเสนอแนะหน่วยงานรัฐและเอกชนจ้างงานผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบ พร้อมเปิดข้อมูลงานวิจัยพบแรงงานสูงอายุเป็นกลุ่มแรกที่ถูกเลือกให้พักงานในธุรกิจประเภทงานบริการ ชี้พิษโควิดยังกระทบแรงงานผู้สูงอายุภาคเกษตรกรรม ภาคการค้าและทำให้ผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งต้องหยุดทำงานมาดูแลลูกหลาน   แนะทางออกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนและการออมและ การพัฒนาฝีมือแรงงานในด้านต่าง ๆ ให้กับผู้สูงอายุ

ในปัจจุบัน โครงสร้างประชากรของโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดเจน มีการการคาดการณ์ว่าโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing population) ในศตวรรษแห่งผู้สูงอายุช่วงปี 2001-2100 แต่ละประเทศจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมของแต่ละประเทศ สำหรับสถานการณ์ของประเทศไทยพบว่ากำลังจะเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในอนาคตอันใกล้นี้ จากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้จำนวนและสัดส่วนของผู้สูงอายุต่อประชากรไทยเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันอายุขัยเฉลี่ยของประชากรรวมและผู้สูงอายุก็เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า หรือโควิด-19 เป็นสถานการณ์ที่รุนแรงมากและส่งผลกระทบไปทั่วโลก นอกจากเรื่องสุขภาพแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ผู้รับจ้างจำนวนมากต่างได้รับผลกระทบ รวมไปถึงผู้สูงอายุก็เป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบในอันดับต้นๆ ด้วยเช่นกัน

จากสถานการณ์ดังกล่าว นำมาสู่การระดมความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางในการวางแผนและกำหนดนโยบายที่เหมาะสมกับการรองรับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างทันท่วงทีและเหมาะสม มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) จึงได้ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุมเวทีเสวนาระดมความคิดเห็น “โควิด-19 : ผลกระทบต่อการจ้างงานผู้สูงอายุและการเตรียมพร้อมสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์” ภายใต้โครงการขับเคลื่อนกลยุทธ์เพื่อพัฒนางานด้านผู้สูงอายุและการสื่อสารสาธารณะเพื่อรองรับสังคมสูงอายุ ในวันที่ 21 สิงหาคม 2563 ณ โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ โดย นายแพทย์ภูษิต ประคองสาย เลขาธิการ มส.ผส. เป็นประธานในการเสวนา และมีผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชัย นักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุและการจ้างงาน เข้าร่วมการประชุมเสวนาในครั้งนี้

 เปิดงานวิจัยโควิดกระทบแรงงานผู้สูงอายุภาคเกษตรกรรม ภาคการค้าและการบริการ และผลการทบทางอ้อมจากครัวเรือนที่มีรายได้ลดลง ผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งต้องหยุดทำงานมาดูแลลูกหลาน 

การประชุมเวทีเสวนาดังกล่าว มีวิทยากรซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ทำการวิจัยในเรื่องเกี่ยวกับผู้สูงอายุและการจ้างงาน  ได้หยิบยกประเด็นสำคัญที่เป็นข้อค้นพบทางวิชาการหลายเรื่องมานำเสนอ ได้แก่ สถานการณ์ปัจจุบันกำลังแรงงานของกลุ่มผู้สูงอายุ โดย ผศ.ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ศึกษาวิจัยพบว่ากลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนหรือร้อยละของผู้ที่ทำงานหรือมีงานทำมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับในอดีต โดยที่ผ่านมาผู้สูงอายุที่ทำงานในชนบทมีสัดส่วนมากกว่าผู้สูงอายุในเขตเมืองมาโดยตลอด แต่ในปี 2547 ถึง ปี 2562 สัดส่วนผู้ที่ทำงานในเขตชนบทมีแนวโน้มลดลง แต่ผู้สูงอายุที่ทำงานในเขตเมืองมีสัดส่วนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งกรุงเทพมหานครเป็นภูมิภาคเดียวที่มีแนวโน้มการทำงานที่เพิ่มสูงขึ้น และจากสถานการณ์ของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อแรงงานผู้สูงอายุที่อยู่ในภาคเกษตรกรรม ภาคการค้าและการบริการ และผลการทบทางอ้อมจากครัวเรือนที่มีรายได้ลดลง ผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งต้องหยุดทำงานมาดูแลลูกหลาน

ทีดีอาร์ไอคาดการณ์แรงงานไทยมีความเสี่ยงที่จะตกงานสูงมากในอนาคตพบจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 62.5 ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา

ในเรื่อง ผลกระทบโควิด-19 ผลกระทบต่อตลาดแรงงานในปัจจุบันและอนาคต ดร.นณริฎ พิศลยบุตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) คาดการณ์ว่าแรงงานไทยมีความเสี่ยงที่จะตกงานสูงมากในอนาคต ซึ่งเมื่อดูจากข้อมูลสถานการณ์การจ้างงานเดือนเมษายน 2563 พบว่า จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 62.5 จากเดือนที่ผ่านมา แต่ข้อมูลดังกล่าวมีตัวเลขผู้ที่ได้รับผลกระทบซ่อนอยู่จำนวนมาก ซึ่งจากสถานการณ์ปัจจุบันทำให้จำนวนแรงงานผู้สูงอายุลดลง โดยผลกระทบที่ได้รับเป็นการลดชั่วโมงการทำงาน และกลุ่มเสี่ยงที่จะตกงาน คือ กลุ่มที่ยังทำงานอยู่แต่รายได้ลดลง และกลุ่มที่ไม่มีรายได้เลย

 

นักวิชาการเปิดข้อมูลเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19  แรงงานผู้สูงอายุเป็นกลุ่มแรกที่ถูกเลือกให้พักงานในธุรกิจประเภทงานบริการ

ในขณะที่ ดร.ชลธิชา อัศวนิรันดร วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอในเรื่อง ขีดความสามารถและประสิทธิภาพของแรงงานผู้สูงอายุในการสร้างสรรค์เศรษฐกิจไทย โดยได้ศึกษาศึกษารูปแบบการจ้างงานของผู้สูงอายุในภาคเอกชนของไทย ในส่วนของการจ้างงานใหม่ ผลการศึกษาก่อนสถานการณ์โควิด-19 พบว่าผู้สูงอายุมีโอกาสที่จะมีประสิทธิภาพการทำงานมากกว่า เมื่อเทียบเท่าแรงงานทั่วไป เมื่อพิจารณาด้านทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน โดยเฉพาะงานที่เน้นการบริหารจัดการในระดับสูง การใช้ทักษะวิชาชีพ การประสานงานและการเรียนรู้ จะเกิดความคุ้มค่าในการจ้างงาน แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ขึ้น แรงงานผู้สูงอายุเป็นกลุ่มแรกที่ถูกเลือกให้พักงานในธุรกิจประเภทงานบริการ ที่ต้องมีการติดต่อประสานงาน ด้วยเหตุผลที่อาจมีความเสี่ยงในด้านสุขภาพ ซึ่งทำให้แรงงานที่ได้รับผลกระทบต้องมีการปรับตัว เช่น หาอาชีพใหม่ๆ หรือ ช่วยกิจการของครอบครัว

ชี้สถานประกอบการประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่มีฝีมือ ส่วนหนึ่งได้จ้างงานผู้สูงอายุในลักษณะจ้างแบบต่อเนื่อง

ทางด้าน ศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้ศึกษาวิจัยในเรื่อง การจ้างงานต่อเนื่องหรือการขยายอายุการทำงาน ความคาดหวังที่รอคอย พบว่าสถานประกอบการประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่มีฝีมือ ส่วนหนี่งได้จ้างงานผู้สูงอายุในลักษณะจ้างแบบต่อเนื่อง หรือคนที่เคยทำอยู่แล้วออกไป จ้างกลับมา โดยเลือกจากประสบการณ์ ความรู้และทักษะ ขณะเดียวกันก็มีความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของผู้สูงอายุที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ซึ่งจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้รู้ว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น นโยบายส่งเสริมการจ้างงานของผู้สูงอายุ คงจะต้องมองนโยบายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพราะถ้านายจ้างมองเรื่องประสบการณ์ ทักษะและสุขภาพเป็นหลัก สถานประกอบการต้องทำให้ลูกจ้างที่ทำงานอยู่ด้วยในปัจจุบันมีความพร้อมด้วยนโยบายสุขภาพและนโยบายพัฒนาทักษะขององค์กร

 

นักวิชาการระบุอุปสรรคด้านอายุและสุขภาพ ซึ่งปัจจัยที่จะช่วยในการปรับตัวของแรงงานให้สามารถทำงานนอกระบบได้อย่างราบรื่นและมีโอกาสประสบความสำเร็จ

ส่วนเรื่อง การเปลี่ยนผ่านด้านการทำงานของแรงงานจากในระบบสู่นอกระบบ เตรียมพร้อมก่อนสูงอายุ ดร.มนทกานต์ ฉิมมามี สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงการศึกษาวิจัยเดี่ยวกับการปรับตัวของลูกจ้างในระบบภาคเอกชนที่มีอายุ ตั้งแต่ 45 ขึ้นไปที่เปลี่ยนสถานะการทำงานในระบบไปสู่การทำงานนอกระบบ พบว่า สถานการณ์การทำงานของกลุ่มลูกจ้างวัยก่อนเกษียณ หรือก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงสถานภาพจากการเป็นลูกจ้างเอกชนกลายมาเป็นแรงงานนอกระบบที่เป็นนายจ้างตนเองหรือเป็นแรงงานรับจ้างรายวันแบบไม่มีสวัสดิการรองรับเพิ่มมากขึ้น สาเหตุหรือปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนสถานการณ์ทำงานดังกล่าว เกิดจากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยภายนอก เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ และปัจจัยภายใน เช่น ความเครียด ปัญหาสุขภาพ ความก้าวหน้าและความอิสระในการทำงาน ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบในการสูญเสียสวัสดิการที่เคยได้รับ  สูญเสียสถานภาพการทำงานในระบบไป ขาดความรู้และทักษะจำเป็นบางอย่างสำหรับงานนอกระบบ และอุปสรรคด้านอายุและสุขภาพ ซึ่งปัจจัยที่จะช่วยในการปรับตัวของแรงงานให้สามารถทำงานนอกระบบได้อย่างราบรื่นและมีโอกาสประสบความสำเร็จ เช่น ความรู้ ทักษะ และเครือข่ายทางสังคม

ผู้เข้าร่วมเสวนายังได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ในการเสวนาเรื่อง “การขับเคลื่อนการจ้างงานผู้สูงอายุเพื่อเตรียมพร้อมสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์” โดยผู้ร่วมเสวนาต่างแสดงความเห็นและข้อเสนอแนะที่น่าสนใจมากมาย อาทิ การเตรียมความพร้อมโดยการร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชนตั้งแต่ ระดับบุคคล ชุมชนและประเทศ การเตรียมวางแผน การออม การร่วมมือกันในชุมชน การจัดกิจกรรม เผยแพร่ความรู้ทางด้านสุขภาพอนามัยของผู้สูงอายุ การปรับตัวทางด้านสังคมและจิตใจของผู้สูงอายุ รวมทั้ง การอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนและการออมเพื่อเตรียมพร้อมเมื่อถึงวัยผู้สูงอายุ การพัฒนาฝีมือแรงงานในด้านต่าง ๆ

การพัฒนาฝีมือแรงงานในด้านต่าง ๆ แก่ผู้สูงอายุ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะทักษะด้านไอที เพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีช่องทางในการทำงานต่อแม้จะถูกพักงานจากสถานประกอบการ เช่น การทำงานส่วนตัวหรืองานออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งผลการศึกษาวิจัยและข้อคิดเห็นที่ได้รับจากการเสวนา มส.ผส. จะได้นำไปสรุปหาแนวทางเพื่อวางแผนและกำหนดนโยบายในเรื่องการจ้างงานผู้สูงอายุอย่างเหมาะสมและเตรียมพร้อมสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ต่อไป