ชูไอเดียหนุนกลุ่มวัย 60-64 ปีทำงานต่อ เปลี่ยนทัศนคติ แก่แล้วต้องพัก

ชูไอเดียหนุนกลุ่มวัย 60-64 ปีทำงานต่อ เปลี่ยนทัศนคติ แก่แล้วต้องพัก ชง ขยายความคุ้มครองสิทธิประกันสังคมให้กับแรงงานสูงวัย 60ปีขึ้นไป

 

สถานการณ์การทำงานของผู้สูงอายุปี 2562 และข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

  • ​กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนหรือร้อยละของผู้ที่ทำงานหรือมีงานทำมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับในอดีต
  • ​ที่ผ่านมาผู้สูงอายุที่ทำงานในชนบทมีสัดส่วนมากกว่าผู้สูงอายุในเขตเมืองมาโดยตลอด
  • ​แต่ในปี 2547 ถึง 2562 สัดส่วนผู้สูงอายุที่ทำงานในเขตชนบทมีแนวโน้มลดลง แต่ผู้สูงอายุที่ทำงานในเขตเมืองมีสัดส่วนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
  • ​กรุงเทพมหานครเป็นภูมิภาคเดียวที่มีแนวโน้มการทำงานที่เพิ่มสูงขึ้น

​จากการวิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มสถานการณ์ทำงานของผู้สูงอายุไทยในช่วงปี 2547 ถึง2562  นำมาสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 10 ข้อที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณานโยบายหรือมาตรการที่เหมาะสมในการส่งเสริมการทำงานหรือการมีงานทำรวมถึงการขยายอายุการทำงานของผู้สูงอายุในอนาคตดังนี้

​1.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจนเพื่อใช้ติดตามและประเมินผลการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสถานะการทำงานของผู้สูงอายุไทยอย่างต่อเนื่อง โดยจะต้องให้ความสพคัญกับบริบทที่แตกต่างกัน ซึ่งจะต้องมีความเฉพาะเจาะจงกับผู้สูงอายุแต่ละกลุ่ม แต่ละสภาพการทำงาน และแต่ละพื้นที่

​2.การดำเนินงานส่งเสริมการทำงานหรือมีงานทำในผู้สูงอายุควรมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับกลุ่มประชากรอายุ 60 ถึง 64 ปี

เพราะกลุ่มนี้จำนวนมากยังมีสถานะสุขภาพที่แข็งแรง และมีข้อจำกัดด้านสุขภาพค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับผู้สูงอายุในกลุ่มที่อายุสูงขึ้น แต่พบว่ากลุ่มผู้สูงอายุกลุ่มนี้หยุดการทำงาน ด้วยเหตุผลที่ว่าเกษียณอายุ  ต้องการพักผ่อน หรือชรา ดังนั้นหากสามารถเพิ่มการทำงาน หรือมีงานทำในประชากรกลุ่มนี้ให้สูงขึ้น หรือชะลอการออกจากกำลังแรงงานของประชากรในช่วงที่เข้าสู่อายุ 60 ปีได้ ก็จะทำให้สัดส่วนการทำงานของผู้สูงอายุในภาพรวมเพิ่มขึ้นได้

​3.การปรับทัศนคติของคนไทยที่มีต่อการทำงานในช่วงหลังอายุ 60 ปีขึ้นไป และการดูแลแรงงานผู้สูงอายุกลุ่มที่มีความเปราะบางทั้งทางเศรษฐกิจและสุขภาพเป็นเรื่องที่ควรส่งเสริมและได้รับความสำคัญ

​จากการสำรวจข้อมูลพบว่าทัศนคติและมุมมองของคนไทย ยังค่อนข้างยึดติดกับแนวคิดที่ว่าหลังอายุ 60 ปีเป็นช่วงของความชรา การสูงอายุ การหยุดพักผ่อน หรือหยุดทำงานค่อนข้างมาก ทั้งที่ในความเป็นจริงสถานะสุขภาพและศักยภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้ที่มีอายุ 60-64ปี มีแนวโน้มที่ดีขึ้นต่อเนื่อง

​4.ควรพิจารณารูปแบบหรือแนวทาง และมาตรการที่เหมาะสมในการขยายความครอบคลุมของระบบประกันสังคมเพื่อคุ้มครองการทำงานให้กับแรงงานสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป  ซึ่งส่วนใหญ่สัดส่วนแรงงานอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นแรงงานนอกระบบ ถึงร้อยละ 90 ของแรงงานผู้สูงอายุทั้งหมด โดยสถานภาพในการทำงานของผู้สูงอายุที่ยังคงทำงานในปี 2562 ส่วนใหญ่ จะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่ประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้าง (ร้อยละ 62.1 ) กลุ่มที่ช่วยธุรกิจครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้าง (ร้อยละ 20.4) และกลุ่มที่มีสถานภาพการทำงานเป็นผู้รับจ้างทำงานหลายเจ้า และการรวมกลุ่ม (ร้อยละ 2.3)

​ที่มา :  ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์, สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล . โครงการ: สถานการณ์และแนวโน้มสภาพการทำงานของผู้สูงอายุไทย : การวิเคราะห์จากข้อมูลการสำรวจระดับประเทศ.  แผนงานบริหารจัดการโครงการวิจัยท้าทายไทย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 30 เมษายน 2563.