เปิดผลการศึกษารูปแบบการจ้างงานผู้สูงอายุในภาคเอกชนของไทย: ความยืดหยุ่น ผลิตภาพ และการคุ้มครอง

เปิดผลการศึกษารูปแบบการจ้างงานผู้สูงอายุในภาคเอกชนของไทย พบการจ้างงานผู้สูงอายุ 2 รูปแบบคือจ้างต่อเนื่องหลังเกษียณ 55 ปี และจ้างงานแบบจ้างใหม่ 60 ปีขึ้นไป พร้อมเสนอ 4 ข้อแนะนำในการจ้างงานผู้สูงอายุให้มีประสิทธิภาพ

การเป็นสังคมสูงวัยของประเทศไทยส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาประเทศ จากจำนวนกำลังแรงงานที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้จำนวนสูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มพึ่งพิงทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น ภาครัฐจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของผู้สูงอายุ และมีความพยายามเพิ่มบทบาทให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น โดย ดร.ชลธิชา อัศวนิรันดร ได้ทำการโครงการวิจัยการศึกษารูปแบบการจ้างงานผู้สูงอายุในภาคเอกชนของไทย: ความยืดหยุ่น ผลิตภาพ และการคุ้มครอง และได้พบข้อมูลที่น่าสนใจใจการจัดทำงานวิจัยในครั้งนี้หลากหลายประเด็น

ซึ่งผลการศึกษาพบว่า รูปแบบการจ้างงานผู้สูงอายุมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ การจ้างงานแบบต่อเนื่องหลังจากครบอายุเกษียณที่อายุ 55 ปี และการจ้างงานแบบจ้างใหม่สำหรับกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ลักษณะงานที่เปิดรับส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับงานภาคการบริการ ในลักษณะงานที่เกี่ยวกับการบริการลูกค้า จัดเรียงสินค้า แคชเชียร์ ธุรการ แม่บ้าน และคอลเซนเตอร์

ในส่วนของการจ้างใหม่ซึ่งเป็นรูปแบบการจ้างงานที่การศึกษานี้ให้ความสำคัญ จะมีลักษณะของการจ้างงานแบบบางเวลาที่ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา แต่จะพิจารณาที่สุขภาพ ความสามารถในการทำงานและประสบการณ์ของผู้สูงอายุเป็นสำคัญ

โดยในส่วนของสัญญาการจ้างงานจะอยู่ที่การตกลงระหว่างกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแบบปีต่อปี จำนวนวันและชั่วโมงการทำงานค่อนข้างยืดหยุ่นประมาณ 5-6 วันต่อสัปดาห์และเข้างานเป็นกะประมาณ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน หัวหน้างานให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีม

โดยแรงงานผู้สูงอายุยังคงได้รับการพัฒนาทักษะและการอบรมตามลำดับขั้น ได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการตามที่แต่ละองค์กรระบุไว้ซึ่งไม่น้อยกว่าขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดคุ้มครองไว้ สวัสดิการเบื้องต้นที่ผู้สูงอายุได้รับจากองค์กร ประกอบไปด้วยการตรวจสุขภาพประจำปี สิทธิสมทบค่ารักษาพยาบาล เบี้ยขยันรายเดือน อีกทั้งบางบริษัทยังเพิ่มเติมสวัสดิการพิเศษให้แรงงานสูงอายุ เช่น กองทุนเงินทดแทน ประกันอุบัติเหตุกลุ่ม และประกันสุขภาพกลุ่ม

ในส่วนของผู้สูงอายุที่ทำงานในหน่วยงานเอกชนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างจำนวน 460 คน พบว่าผู้สูงอายุทำงานอยู่ในธุรกิจ 4 ประเภท ได้แก่ ขายปลีก โทรคมนาคม บริการด้านสุขภาพ และการผลิต ส่วนใหญ่ทำงานแบบบางเวลา ที่ยืดหยุ่นในเรื่องจำนวนวันและเวลาของการทำงาน รูปแบบการทำงานแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มอายุ

โดยช่วงก่อนวัยสูงอายุ (อายุ 55-59 ปี) ส่วนใหญ่จะทำงานแบบเต็มเวลา แต่ตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป สัดส่วนของผู้ที่ทำงานแบบบางเวลาจะสูงกว่าการทำงานแบบเต็มเวลาอย่างชัดเจน โดยผู้สูงอายุในกลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไปจะทำงานแบบบางเวลาเกือบทั้งหมด ลักษณะงานที่ทำจะเอื้อต่อผู้สูงอายุ กล่าวคือไม่ใช่งานที่ต้องแรงกายเยอะจนเกินไป

โดยเกือบครึ่งของผู้สูงอายุทำงานในตำแหน่งพนักงานดูแลแนะนำจัดเรียงสินค้า รองลงมาคือ พนักงานบริการลูกค้า ซึ่งเป็นงานที่ค่อนข้างมีความใกล้ชิดกับลูกค้า หรือผู้มารับบริการ เน้นการสื่อสาร ประสานงานกับผู้อื่นอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้น บริษัทจึงต้องการจ้างผู้สูงอายุคนไทยที่มีประสบการณ์ มีใจรักบริการ สื่อสารได้อย่างเข้าใจมาทำงานในลักษณะงานประเภทนี้

หากพิจารณาเรื่องระยะเวลาการทำงาน พบว่าในภาพรวมผู้สูงอายุทำงานโดยเฉลี่ย 5.4 ชั่วโมงต่อวัน การจ่ายค่าตอบแทนมี 3 รูปแบบหลัก ได้แก่ จ่ายเป็นรายชั่วโมง จ่ายเป็นรายวัน และจ่ายเป็นรายเดือน ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะงานและประเภทธุรกิจ รวมทั้งรูปแบบการจ้างและนโยบายการจ่ายค่าจ้างของแต่ละบริษัท

สำหรับรูปแบบการทำงานที่เหมาะสม ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าการทำงานแบบบางเวลาเป็นรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ โดยส่วนใหญ่เห็นว่าการทำงานแบบบางเวลา-รายวันเป็นรูปแบบที่เหมาะสมที่สุด รองลงมาคือ การทำงานแบบบางเวลา-รายเดือน ซึ่งความเห็นแตกต่างกันไปตามอายุของผู้สูงอายุ  โดยผลการศึกษามีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายดังนี้

  1. ข้อเสนอแนะด้านความยืดหยุ่น (Flexibility)ความยืดหยุ่นนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญต่อการออกแบบ (Job Design)รูปแบบการทำงานที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากกลุ่มผู้สูงอายุจะมีรูปแบบและเงื่อนไขในการทำงานที่แตกต่างออกไปจากวัยแรงงานอื่น โดยข้อเสนอแนะที่ได้จากการศึกษา มีดังนี้ ฝึกอบรมเพื่อการเปลี่ยนสายงาน (Job Transition)  , ส่งเสริมให้เกิดการทำงานแบบช่วยเหลือกัน (Job Sharing) รูปแบบการทำงานแบบช่วยเหลือกัน (Job Sharing) , การมีแนวทางที่ชัดเจนในการจ้างงานเฉพาะกลุ่ม
  2. ข้อเสนอแนะเพื่อเพิ่มผลิตภาพการทำงาน (Productivity) มีรายละเอียดของข้อเสนอแนะดังนี้  ควรการกำหนดสายอาชีพ (Career Path) ที่ชัดเจน ,ควรเพิ่มบทบาทการทำงานของผู้สูงอายุที่ต้องใช้ทัศนคติการทำงานเข้ามาเกี่ยวข้อ’
  3. ข้อเสนอแนะเพื่อเพิ่มความคุ้มครองจากการทำงาน (Protection) ควรมีการส่งเสริมการสร้างค่านิยมด้านความเสมอภาคในที่ทำงาน ,ควรมีการตั้งศูนย์/หน่วยงาน/กลไก เพื่อช่วยเหลือและให้คำปรึกษา (complaints mechanism and support) ภายในหน่วยงาน,และควรมีการส่งเสริมการออมของผู้สูงอายุ
  4. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในภาพรวม (เรียงลำดับตามความสำคัญ) ควรมีการเพิ่มประสิทธิภาพฐานข้อมูลแรงงานผู้สูงอายุ , ภาครัฐควรเป็นหน่วยงานนำร่องในการจ้างงานผู้สูงอายุ,เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ MOU,และปรับปรุง ปรับปรุงกฎระเบียบและความคุ้มครองให้ครอบคลุมกลุ่มผู้สูงอายุ