เปิดงานวิจัย การศึกษาการปรับตัวของลูกจ้างในระบบภาคเอกชนที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไปที่ เปลี่ยนสถานการณ์ทำงานไปสู่การทำงานในภาคนอกระบบ

เวทีเสวนา “โควิด-19 : ผลกระทบต่อการจ้างงานผู้สูงอายุ” เปิดงานวิจัย การศึกษาการปรับตัวของลูกจ้างในระบบภาคเอกชนที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไปที่ เปลี่ยนสถานการณ์ทำงานไปสู่การทำงานในภาคนอกระบบ พบ 4 ผลกระทบของการปรับตัวของลูกจ้างในการเปลี่ยนงาน พร้อมชูข้อเสนอ 3 ส่วน ฝึกอบรมทักษะใหม่ให้กับพนักงาน ส่งเสริมการออม และให้ทำประกันสังคมต่อ (มาตรา 39) 

(ขอบคณภาพประกอบจาก MTHAI)

อีกหนึ่งงานวิจัยที่ได้มีการนำเสนอในเวทีเสวนา “โควิด-19 : ผลกระทบต่อการจ้างงานผู้สูงอายุ” คือ โครงการวิจัยการศึกษาการปรับตัวของลูกจ้างในระบบภาคเอกชนที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไปที่ เปลี่ยนสถานะการทำงานไปสู่การทำงานในภาคนอกระบบ:  โดยโครงการวิจัยชิ้นนี้จัดทำขึ้นโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกของกรณีศึกษาทั้ง 30 กรณี ที่ได้สะท้อนถึงความหลากหลายของประเภทงานในตลาดแรงงานนอกระบบของไทยในปัจจุบัน (พ.ศ. 2561) โดยพบเส้นทางการทำงานจากในระบบสู่นอกระบบจาก 4 กลุ่มอาทิ  กลุ่มแรงงานรับจ้าง  , กลุ่มประกอบอาชีพอิสระ (ไร้ทักษะและทักษะต่ำ) , กลุ่มประกอบอาชีพอิสระ (กึ่งทักษะและทักษะสูง) และ กลุ่มประกอบธุรกิจส่วนตัวแบบมีลูกจ้าง โดยรายละเอียดของการเปลี่ยนสถานะการทำงานของแต่ละกลุ่มได้ระบุสาเหตุและปัจจัยในการเปลี่ยนสถานะการทำงานไว้อย่างน่าสนใจดังนี้

สาเหตุหรือปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนสถานะการทำงานจากในระบบภาคเอกชนไปสู่การทำงานภาคนอกระบบ กระบวนการตัดสินใจออกนอกระบบงานศึกษาพบว่ามีปัจจัยมากกว่า 1 ปัจจัยส่งผลต่อการเปลี่ยนงาน รวมถึงมีความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจ ซึ่งความยากลำบากของการเปลี่ยนมาเป็นแรงงานนอกระบบและการปรับตัว ในช่วงแรกที่ออกมาทำงานนอกระบบ ทำให้เกิดผลกระทบต่างๆ ตามมาดังนี้

1) สูญเสียสวัสดิการที่เคยได้รับ  2) สูญเสียสถานภาพการทำงานในระบบ ทำให้ขาดโอกาสในการเข้าถึงแห่งทุน  3) ขาดความรู้และทักษะจำเป็นบางอย่างสำหรับงานภาคนอกระบบ โดยเฉพาะกลุ่มที่ออกมาทำงานที่ไม่ได้ใช้ทักษะเดิมเลย และ 4) อุปสรรคด้านอายุและสุขภาพ ทำให้แรงงานไม่สามารถทำงานที่ใช้แรงกายหนักได้ แต่ในขณะเดียวกัน เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านรายได้ก็ต้องยอมทำงานเกือบทุกอย่างที่เข้ามาเพื่อสำรองเงินไว้ยามที่ไม่มีงานหรือไม่มีรายได้ ซึ่งอาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพในท้ายที่สุด

ทั้งนี้งานศึกษายังพบปัจจัยหรือเงื่อนไขสำคัญสำหรับการปรับตัวเมื่อออกมาทำงานภาคนอกระบบ 4 ปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยในการปรับตัวของแรงงานให้สามารถทำงานภาคนอกระบบได้อย่างราบรื่นและมีโอกาสประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น ดังนี้

 1) การมีทุนจากการออมก่อนออกนอกระบบ หรือสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนหลังจากออกนอกระบบแล้ว เพื่อเป็นทุนสำหรับการลงทุน และสำรองไว้ใช้ยามไม่มีงาน/รายได้

2) การมีตาข่ายความคุ้มครองทางสังคม (Social safety net) ทั้งที่มีอยู่เดิมและที่สร้างขึ้นใหม่หลังออกนอกระบบ ช่วยลดความเสี่ยงในการหางานทำในภาคนอกระบบ และคอยสนับสนุนปัจจัยที่จำเป็นอื่นๆ ในการทำงานภาคนอกระบบ

 3) ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับงานหรือธุรกิจที่กำลังจะทำ รวมถึงข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการพื้นฐาน ระบบการทำบัญชี และการตลาด (กรณีประกอบธุรกิจ)

 และ 4) ทักษะจำเป็นในงานภาคนอกระบบ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ การนำทักษะเดิมมาใช้เพื่อต่อยอดงานในภาคนอกระบบ การประยุกต์ใช้ทักษะเดิมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานภาคนอกระบบ และการเรียนรู้ทักษะใหม่เฉพาะอาชีพ (on-the-job training, อบรมเพิ่มเติม)

นอกจากนี้งานวิจัยชิ้นนี้ยังมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาระบบ กลไก และมาตรการการเตรียมความพร้อม เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้แรงงานนอกระบบกลุ่มนี้สามารถก้าวเข้าสู่ภาวะสูงวัยอย่างกระปรี้กระเปร่า (Active and Productive Ageing)  3 ส่วนสำคัญ ดังนี้

ข้อเสนอส่วนที่หนึ่ง การป้องกันการออกนอกระบบ หรือยืดระยะเวลาการอยู่ในระบบ (สำหรับกลุ่มที่ไม่สมัครใจ) 1) นโยบายส่งเสริม Work-Life Balance ให้กับพนักงาน เพื่อลดความตึงเครียด และเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับชีวิตการทำงานและชีวิตครอบครัว เช่น ให้สิทธิในการลาแบบยังได้รับเงินเดือนในกรณีผู้ที่อยู่ในความดูแลป่วย หรือต้องได้รับการดูแลในระยะยาว เป็นต้น    2) การฝึกอบรมทักษะใหม่ให้กับพนักงาน (Reskill/Upskill) เพื่อกระตุ้นให้เตรียมพร้อมทำงานกับเทคโนโลยีในการผลิตใหม่ๆ การตลาดแบบใหม่ และลดช่องว่าระหว่างพนักงานต่างรุ่น  และ 3) การเพิ่มทักษะการประเมินความเสี่ยง และวางแผนรับมือกับความเสี่ยง ทั้งในด้านการทำงาน และการดำเนินชีวิต เพื่อให้สามารถประเมินสิ่งท้าทายต่างๆ สร้างความตระหนัก และเตรียมตัวรับมือได้อย่างเหมาะสม

ข้อเสนอส่วนที่สอง การเตรียมความพร้อมสำหรับผู้สมัครใจออกนอกระบบ ได้แก่ 1) การส่งเสริมการออม (ภาคบังคับ/ภาคสมัครใจ) เป็นเงินทุนสำรองระหว่างรองาน หรือเริ่มต้นงานใหม่ในภาคนอกระบบ (ประมาณ 3-6 เดือน) 2) การวางแผนการทำงานในภาคนอกระบบ ทดลองทำเป็นอาชีพเสริมในระหว่างทำงานในระบบ หรือเริ่มเรียนรู้ข้อมูล ทักษะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในภาคนอกระบบที่ต้องการ 3) การสร้างทางเลือกในการทำงานภาคนอกระบบ มีศูนย์ข้อมูลหรือระบบ Matching แรงงาน ที่เสมือนเป็นตลาดนัดแรงงานนอกระบบโดยเฉพาะ (ภาครัฐร่วมมือกับภาคเอกชน) และ 4) การเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพในทุกช่วงวัยของแรงงาน

ข้อเสนอส่วนที่สาม เพื่อการปรับตัวที่เหมาะสมหลังออกนอกระบบ เป็นข้อเสนอภาพรวมสำหรับทุกกลุ่มระดับฝีมือ ได้แก่ 1) ส่งเสริมให้แรงงานทุกคนที่ออกนอกระบบทำประกันสังคมต่อ (มาตรา 39)  2) ส่งเสริมการรวมกลุ่ม/เครือข่ายอาชีพในภาคนอกระบบ เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูล ความรู้ ทักษะจำเป็นต่างๆ และมีทางเลือกในการเสริมรายได้ รวมถึงเป็นตาข่ายทางสังคมที่ช่วยรองรับเมื่อเกิดปัญหาในการทำงาน และ 3) ส่งเสริมเรื่องการดูแลสุขภาพ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้หลายกรณีศึกษาตัดสินใจออกนอกระบบ และเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ทำงานต่อไปได้ในภาคนอกระบบ โดยจัดเป็นโครงการ/กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพสำหรับแรงงานในภาคนอกระบบโดยเฉพาะ