ถอดบทเรียนโควิด-19 พบ “ผู้สูงอายุ” ขาดคนดูแล–รายได้ลดมากขึ้น เร่งให้เกิดนวัตกรรมใหม่รองรับสังคมสูงวัย
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก เช่นเดียวกับประเทศไทยยังเฝ้าสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในการเฝ้าระวังไม่ให้โควิด-19กลับมาแพร่ระบาดอีกระลอกหนึ่ง
“โควิด-19” ถือเป็นโรคที่อุบัติขึ้นใหม่ การเกิดขึ้นของเชื้อโรคนี้ ทำให้ทั่วโลกไม่สามารถรับมือได้อย่างทันท่วงที มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง อย่างผู้สูงอายุ
ดังนั้นการดูแลผู้สูงอายุในช่วงวิกฤติ จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ด้วยเหตุนึ้มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย จึงจัดเวทีอภิปรายวันผู้สูงอายุสากล “การดูแลผู้สูงอายุในช่วงวิกฤติ…บทเรียนจากไทยและต่างประเทศเพื่ออนาคต” ในวันอังคารที่ 29 กันยายนที่จะถึงนี้
โดยจะมีการนำเสนอการถอดบทเรียนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรน่า 2019 (Covid-19) ของประเทศไทย ซึ่งเป็นผลการศึกษาที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จัดทำขึ้น ที่มี “จินตนา จันทร์บำรุง” หัวหน้าผู้ตรวจราชการ พม. เป็นประธานคณะทำงานถอดบทเรียนสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ
สำหรับการถอดบทเรียนครั้งนี้ พบว่า ปัญหาอุปสรรคที่สำคัญในการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระยะแรก ในเรื่องการบริหารข้อมูล คือ ยังขาดการบูรณการฐานข้อมูลทางสังคมที่เชื่อมโยงกัน มีความซ้ำซ้อนของหน่วยงานในการให้ข้อมูลผู้ที่ได้รับผลกระทบ ข่าวสารที่เป็นเท็จทำให้เกิดความเข้าใจผิดสับสนและบริหารจัดการได้ยาก
ขณะที่กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆไม่เอื้อต่อการปฎิบัติงานในภาวะวิกฤติ อีกทั้งยังมีขั้นตอน การให้ความช่วยเหลือซับซ้อนยุ่งยาก
ส่วนการบริหารจัดการนโยบาย พบว่าขาดกระบวนการทำงานที่ชัดเจนทำให้การทำงานเกิดความล่าช้าไม่สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ยังไม่มีการสร้างระบบ Productive Welfare หรือ นวัตกรรมสวัสดิการแห่งรัฐที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดการพึ่งพาจากภาครัฐ และยังไม่มีแผนรองรับภาวะวิกฤติเฉพาะด้านที่เชื่อมโยงกันในทุกระดับ
ด้านการจัดสวัสดิการ พบว่า ขาดมาตรฐานในการจัดสวัสดิการทางสังคม การเข้าถึงสวัสดิการ-บริการยังไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายในภาวะวิกฤติ
สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายนั้น ด้านระบบการบริหารข้อมูล ควรพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านสังคมให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายและเป็นปัจจุบัน ควรมีการบูรณาการฐานข้อมูลระดับกรมต่างๆภายในกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และสามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆได้ รวมไปถึงควรจัดทำแบบฟอร์มช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมหรือแอพพลิเคชั่นเชื่อมกับฐานข้อมูลทางสังคม
ขณะเดียวกันจะต้องผลักดันเกิดปรับปรุงกระบวนการช่วยเหลือเยียวยาให้รวดเร็วขึ้นและปรับมาตรการต่างๆ โดยแก้ไขระเบียบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในกรณีเกิดภาวะวิกฤติ
ส่วนข้อเสนอแนะในด้านการบริหารจัดการนั้น ต้องสนับสนุนการมอบอำนาจให้จังหวัดเป็นผู้บริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จ หรือ Single Command รวมถึงการประสานความร่วมมือระหว่างกระทรวงในระดับนโยบายสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง รวมถึงให้ชุมชนเป็นฐานในการดูแลครอบครัว
ด้านการจัดสวัสดิการ ควรจัดตั้งศูนย์พักพิงฉุกเฉินในระดับพื้นที่รองรับทุกกลุ่มเป้าหมายมีมาตรการในการคุ้มครองสิทธิสำหรับกลุ่มเปราะบางที่ชัดเจน เช่น การออกบัตรแสดงตนของคนไร้ที่พึ่งเพื่อสิทธิในการรักษาพยาบาล
นอกจากนี้ยังมีการถอดบทเรียนที่กระทบโดยตรงต่อ “ผู้สูงอายุ” ด้วย โดยพบว่า ผู้สูงอายุ ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในเชิงลบ คือ ด้านสุขภาพ เสี่ยงต่อการเกิดความเครียด ,ขาดคนดูแลผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านสุขภาพ ,เกิดการละเมิดสิทธิผู้สูงอายุมากขึ้น, มีภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น ผู้สูงอายุรายได้ลดลง ขาดรายได้
ขณะที่ผลลกระทบในเชิงบวก พบว่า มีการพัฒนาหลายด้าน เช่น เริ่มนำหุ่นยนต์มาช่วยดูแลผู้สูงอายุ, มีการจัดทำคู่มือการดูแลตนเองสำหรับผู้สูงอายุผ่านช่องทางออนไลน์ และมีการดำเนินกิจกรรมของโรงเรียนผู้สูงอายุทางอากาศ นอกจากนี้ยังมีตลาดผู้สินค้าผู้สูงอายุออนไลน์อีกด้วย
สำหรับเวทีอภิปรายวันผู้สูงอายุสากล “การดูแลผู้สูงอายุในช่วงวิกฤติ…บทเรียนจากไทยและต่างประเทศเพื่ออนาคต” จะมีขึ้นในวันที่ 29 กันยายน 2563นี้ เวลา 9.00 – 12.00 น. ที่ ห้องประชุมแมนดาริน เอ ชั้น 1 โรงแรมแมนดาริน ถนนพระรามที่ 4 กรุงเทพฯ
ภายในงานยังมีการนำเสนอบทเรียนจากไทยและต่างประเทศในการดูแลผู้สูงอายุในช่วงวิกฤต โดย ศ.ศศิพัฒน์ ยอดเพชร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมศาสตร์ในคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ และเวทีอภิปรายการดูแลผู้สูงอายุในช่วงวิกฤติ…..บทเรียนสู่อนาคต โดยนายรังสรรค์ นันทกาวงศ์ นายกเทศมนตรีเมืองบึงยี่โถ , นายแพทย์สกานต์ บุนนาค สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ , นางอุบลวรรณ แสนมหายักษ์ ผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยวัยที่สามนครเชียงราย ,นายเจนวิทย์ วิโสจสงครามรองผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ และนางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สสส.) ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมรับฟังได้
นอกจากนี้ยังสามารถติดตามการถ่ายทอดสด ผ่าน Facebook Live ที่เพจ สูงวัย ตั้งแต่เวลา 9.00 น. ในวันที่ 29 กันยายนนี้