การดูแลผู้สูงอายุในช่วงวิกฤติ…บทเรียนจากไทยและต่างประเทศเพื่ออนาคต

การดูแลผู้สูงอายุในช่วงวิกฤติบทเรียนจากไทยและต่างประเทศเพื่ออนาคตนักวิชาการ  เผย โมเดลจัดการดูแลผู้สูงอายุในการแพร่ระบาดโควิด-19 ต่างชาติ เน้นบิ๊กดาต้าเทคโนโลยีดูแลตัวเองให้แข็งแรง” พบวิกฤตด้านมนุษยธรรม ไร้เตียงสำหรับคนแก่ เสนอเพิ่มสิทธิประโยชน์ในพ...ผู้สูงอายุ ขณะที่พม.ถอดบทเรียนพบหลายมาตรการอย่างตกหล่นความช่วยเหลือไม่ถึงกลุ่มเป้าหมาย

เมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่โรงแรมแมนดาริน มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย จัดเวทีอภิปราย “การดูแลผู้สูงอายุสูงอายุในช่วงวิกฤต…บทเรียนจากไทยและต่างประเทศเพื่ออนาคต” เนื่องในวันผู้สูงอายุสากล  พร้อมกับนำเสนอบทเรียนจากไทยและต่างประเทศในการดูแลผู้สูงอายุในช่วงวิกฤต โดยศ.ศศิพัฒน์ ยอดเพชร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมศาสตร์ ในคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ และนางจินตนา จันทร์บำรุง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประธานคณะทำงานถอดบทเรียนสถานการณ์การแร่ระบาดของโควิด-19

 

ศ.ศศิพัฒน์  เปิดเผยถึงผลการวิจัยเรื่อง “การจัดบริการสังคมทางเลือกสำหรับผู้สูงอายุในสถานการณ์วิกฤต : กรณีศึกษาช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยการสนับสนุนของสำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า จากการสืบค้นข้อมูลการดำเนินงานในศูนย์บริการกลางวันสำหรับผู้สูงอายุและบริการสังคมทางเลือก ช่วงการแพร่ระบาดชองโควิด-19 ในต่างประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา อิตาลี แคนาดา ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ พบว่าในบางประเทศ คือ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ปิดศูนย์ผู้สูงอายุ แต่ไม่ปิดบริการ โดยยังคงให้บริการด้าน อาหาร ยารักษาโรค และการให้คำปรึกษา โดยออกข้อแนะนำในการปฏิบัติงานแก่ผู้สูงอายุ ออกแนวปฏิบัติการเปิดบริการ เปิดกิจกรรมออนไลน์ มีรายการใน Youtube และเตรียมให้ผู้สูงอายุที่เป็นสมาชิกให้เข้าถึงระบบดิจิทัล  รวมถึงการเปิดคลินิกดิจิทัล

 

นอกจากนี้ยังพบว่าในสหรัฐฯมีการเตรียมการเชิงรุกเพื่อช่วยให้บริการมีประสิทธิภาพ โดยศูนย์บริการกลางวันสำหรับผู้สูงอายุ มีการจัดทำทะเบียนผู้สูงอายุทุกคนที่เป็นสมาชิก , ก่อนมีการระบาดใหญ่ มีการสำรวจปรับปรุงข้อมูลสำคัญ เช่น ผู้สูงอายุอยู่กับใคร ความสามารถในการใช้สื่อสาร  ภาวะเจ็บป่วย ,การเชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ต และจัดเตรียมสถานที่วางอาหาร และรับอาหารในชุมนุม

 

ขณะที่ในออสเตรเลีย มุ่งเน้นให้ผู้สูงอายุดูแลตนเอง อยู่อย่างแข็งแรง และปลอดภัย โดยจัดทำคู่มือสำหรับบริการผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีข้อมูลสายด่วนโควิดแห่งชาติ ,ข้อมูลบริการดูแลผู้สูงอายุ เช่น เครือข่ายที่ปรึกษา จัดการผู้ดูแล ช่วยภาวะฉุกเฉิน อาหาร ,บริการผู้มีความยากลำบากทางการเงิน ,ข้อมูลสำหรับชาวอะบอริจินและอื่นๆ โดยมีคลื่นวิทยุถึง 63 ภาษา เช่นเดียวกับในสิงคโปร์ ที่ออกข้อแนะนำการปฏิบัติตัวในที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุ เช่น การแนะนำให้ออกกำลังการ ควบคุมภาวะโรค คงการติดต่อกับครอบครัว

ศ.ศศิพัฒน์  ระบุว่า ในส่วนของแคนาดา เน้นการกระจายงบประมาณเร่งด่วนสู่ระดับชุมชนช่วยให้เกิดบริการที่รวดเร็วตรงกับปัญหา ไม่ว่าจะเป็น การปรับโครงการที่อนุมัติไปแล้วเป็นการป้องกันแก้ไขปัญหาโควิด-19ในผู้สูงอายุ 2,166 โครงการ เช่น การจัดหาหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์, ช่วยผู้สูงอายุออกไปพบแพทย์ ,ป้องกันผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง/สุขภาพจิต, อบรมผู้สูงอายุเตรียมการใช้ชีวิตหลังคลายล็อคดาวน์  นอกจากนี้ประเทศต่างๆยังมีการทำงานแบบบูรณาการสร้างกระจายการบริการอย่างทั่วถึง ทั้งการบรรเทาทุกข์ การจัดส่งสินค้า อาหาร และยา รวมไปถึงการเสริมสร้างทักษะเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการโดยง่าย

 

สำหรับจีนและอิตาลี ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากนั้น มีมาตรการเน้นไปที่การบริการสุขภาพจิตให้กับผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตามผลการศึกษายังพบว่ามีบทเรียนที่เป็นวิกฤตด้านมนุษยธรรม เช่น ข้อจำกัดของเตียงในโรงพยาบาลทำให้ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มสุดท้ายที่จะได้รับการรักษา ,การจัดบริการโดยผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล สร้างความยากลำบากในการเข้าถึงบริการ และ ผู้สูงอายุที่พึ่งพิงตนเองไม่ได้ไม่สามารถเข้าถึงบริการ

 

ศ.ศศิพัฒน์   เสนอแนวทางการจัดบริการสังคมสำหรับผู้สูงอายุในภาวะวิกฤต ดังนี้ 1.ปรับแนวคิดการจัดสวัสดิการใหม่ เช่น เพิ่มสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุในพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ,คงแนวคิด Social Safety Net ,คงแนวสวัสดิการเชิงคุ้มครอง ,เพิ่มแนวคิดสวัสดิการเชิงผลิตภาพ ,สร้างความเข้าใจต่อวิถีชีวิตผู้สูงอายุในสังคมปรกติใหม่  2.พัฒนาระบบการจัดการในศูนย์บริการกลางวันสำหรับผู้สูงอายุ  เช่น ปรับฐานคิดของชุมชน ผู้สูงอายุ เจ้าหน้าที่ สู่แนวคิดศูนย์บริการครบวงจร 3.เสริมสร้างความรู้ทักษะทางคอมพิวเตอร์แก่ผู้สูงอายุ และ4.พัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้สูงอายุในชุมชน  เช่น มีฐานข้อมูลผู้สูงอายุที่มีตัวชี้วัดสุขภาพ เศรษฐานะที่เป็นจริง โดยปรับข้อมูลให้เป็นปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา และ สร้างระบบการแบ่งปันข้อมูล

 

ด้านนางจินตนา  เปิดเผยถึงผลกระทบของโควิด-19 ต่อผู้สูงอายุไทยว่า ผู้สูงอายุได้รับผลกระทบในหลายเรื่อง เช่น การดูแลตัวเอง การซื้อเครื่องอุปโภคบริโภค การเดินทางไปสถานที่ต่างๆ รวมถึงการเข้ารับบริการทางการแพทย์กรณีเจ็บป่วย นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้สูงอายุที่ว่างงานเพิ่มขึ้นจาก 2.9 เปอร์เซ็นต์ เป็น 6.6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งกลุ่มที่ตกงานมากที่สุด คือ กลุ่มรับจ้างทั่วไป

 

สำหรับความช่วยเหลือและสวัสดิการจากรัฐนั้น รัฐบาลได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อมาช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือนร้อนให้ผู้สูงอายุที่ได้รับผลกระทบหลายมาตรการ ซึ่งบางมาตรการก็ได้ผลดี ตรงเป้าหมาย บางมาตรการก็ยังตกหล่นไม่ถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่ควรได้รับความช่วยเหลือ  โดยมาตรการที่เฉพาะเจาะจงในการช่วยผู้สูงอายุประกอบด้วย  เงินให้เปล่าเพิ่มขึ้นจากกรมกิจการผู้สูงอายุคนละ 50 หรือ 100 บาท ซึ่งแม้เป้าหมายถูกตัวเพราะเป็นผู้สูงอายุแต่งบประมาณที่ใช้ก็น้อยมากคือเพียง 689 ล้านบาท ,การพักชำระหนี้ระยะเวลา 1 ปีสำหรับลูกหนี้กองทุนผู้สูงอายุที่กู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพจากกองทุนผู้สูงอายุทุกคน ครอบคลุมผู้สูงอายุเพียง 4.1 หมื่นราย  , การจ่ายเงิน 3,000 บาทครั้งเดียวให้กับผู้ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากโครงการเราไม่ทิ้งกัน ซึ่งเป็นโครงการที่ดีเพราะเป็นการอุดช่องโหว่ของการตกหล่นในโครงการเราไม่ทิ้งกัน

นางจินตนา กล่าวว่า ส่วนโครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ตั้งเป้าหมายจำนวนนักบริบาลอาชีพจำนวน 15,548 คน กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ แต่ก็มีข้อจำกัดที่ยังอยู่ในระดับนโยบาย ยังไม่เห็นผลเด่นชัดในทางปฏิบัติ   โดยพบว่ามีผู้สูงอายุประมาณ 1 ใน 3 ไม่สามารถเข้าถึงบางความช่วยเหลือได้ เช่น กรณีเงินเยียวยาโครงการเราไม่ทิ้งกัน เนื่องจากต้องใช้การกรอกข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุไม่คุ้นเคย อย่างไรก็ตามรัฐบาลควรให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตโดยตรงของผู้สูงอายุเป็นหลัก เช่น การเปิดให้บริการสถานดูแลผู้สูงอายุ ระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว การอำนวยความสะดวกในการเดินทางและการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ส่วนด้านเศรษฐกิจอาจต้องคำนึงถึงการหางานที่เหมาะสมกับผู้สูงวัยที่ยังต้องการและสามารถทำงานได้

ด้านนางภรณี  ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สสส.) กล่าวว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย สสส. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการดำเนินการสนับสนุนการปอ้งกันการแพร่ระบาดของโรค โดยเฉพาะการให้ข้อมูลความรู้ ความเข้าใจในการปฏิบัติตนสำหรับประชากรกลุ่มเฉพาะทั้งในการพัฒนาสื่อความรู้เฉพาะกลุ่ม เช่น ผู้สูงอายุ คนพิการ แรงงานข้ามชาติ ประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีการทำสื่อภาษาถิ่น และภาษาแรงงานข้ามชาติกว่า 10 ภาษา รวมถึงการสนับสนุนการศึกษาข้อมูลทางวิชาการและพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อรองรับสถานการณ์วิกฤตสำหรับประชากรกลุ่มเฉพาะในอนาคต นอกจากนี้ยังร่วมกับภาคีเครือข่ายที่จะพัฒนา และขยายผลรูปแบบกิจกรรม ช่องทางการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการร่วมทำกิจกรรมของผู้สูงอายุ ที่อาจเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค หรือสถานการณ์วิกฤติต่างๆ ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถออกมาพบปะทำกิจกรรมร่วมกันได้ หรือไม่สามารถรวมตัวกันเป็นจำนวนมากได้ เช่น การเรียนผ่านระบบออนไลน์ในรูปแบบห้องเรียนผู้สูงอายุออนไลน์ การทำกิจกรรมกลุ่มออนไลน์ เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุได้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ลดภาวะซึมเศร้าได้  การพัฒนาระบบ E-learning สำหรับผู้สูงอายุ โดยร่วมกับ Young Happy พัฒนา “เกษียณคลาส” ให้เป็นห้องเรียนออนไลน์สำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการมีสุขภาวะที่ดี และร่วมกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พัฒนาหลักสูตรเตรียมพร้อมและสื่อการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสุขภาวะ“ผู้สูงวัยดิจิทัล” ในระบบออนไลน์เช่นกัน โดยจะเริ่มให้ทดลองใช้งานได้ในช่วงปลายปี 2563 ซึ่งแนวทางการดำเนินงานเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่พัฒนาไว้เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถปรับตัวให้ดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข แม้จะต้องเผชิญกับสถานการณ์โรคระบาด หรือสถานการณ์วิกฤตในอนาคต นางภรณีกล่าว.-