ถอดบทเรียนช่วงวิกฤต…สู่การดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต

1 ตุลาคมของทุกปี คือวันผู้สูงอายุสากล  ในรอบปีที่ผ่านมาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายนานาประเทศต่อการรับมือกับโรคอุบัติใหม่นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบางเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากที่สุดหากมีการติดเชื้อ

ในเวทีอภิปราย “การดูแลผู้สูงอายุในช่วงวิกฤติ…..บทเรียนสู่อนาคต” ที่จัดขึ้นโดย มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย มีการแลกเปลี่ยนความเห็น ระหว่างองค์กรต่างๆที่มีภารกิจในการดูแลผู้สูงอายุ โดยส่วนใหญ่พบว่ามีการเปลี่ยนแผนการให้บริการให้กับผู้สูงอายุ ถึงแม้ว่าในช่วงต้นอาจจะมีปัญหาเรื่องแนวปฏิบัติอยู่บ้าง เนื่องจากเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

นายรังสรรค์  นันทกาวงศ์ นายกเทศมนตรีเมืองบึงยี่โถ  จังหวัดปทุมธานี หนึ่งในท้องถิ่นตัวอย่างในการดูแลผู้สูงอายุ ได้เล่าประสบการณ์ว่า จากเดิมที่ผู้สูงอายุจะต้องเดินทางมาหาหมอ กลายเป็น หมอจะเดินทางไปเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุที่บ้านแทน พร้อมกับการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อที่บ้านผู้สูงอายุทุก 14 วัน  โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ติดเตียงจะมีทีมนำข้าวสารอาหารแห้งไปมอบให้ด้วย

อย่างไรก็ตามการดูแลผู้สูงอายุของบึงยี่โถ มีการดำเนินการมานานแล้ว โดยมีทั้งศูนย์การแพทย์และฟื้นฟูบึงยี่โถ ,ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุจำนวน 3 ศูนย์ และล่าสุดได้เปิดศูนย์สันทนาการและฟื้นฟูผู้สูงอายุบึงยี่โถ ขึ้น เพื่อให้การดูแลผู้สูงอายุแบบ Day care โดยจะมีเจ้าหน้าที่รับส่งถึงบ้าน และนำผู้สูงอายุมาทำกิจกรรมที่เหมาะสมกับช่วงวัน ทำกายภาพ รวมถึงดูแลเรื่องอาหาร ทั้งมื้อหลักและอาหารว่างระหว่างวันด้วย ซึ่งกิจกรรมในส่วนนี้ทางเทศบาล คิดค่าบริการวันละ 300 บาท โดยรับเฉพาะผู้ที่มีทะเบียนบ้านในเทศบาลเมืองบึงยี่โถเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีการเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุระยะยาว หรือ Long term Care โดยทีมสหวิชาชีพด้วย ขณะเดียวกันยังมีการตั้งมูนิธิ “ข้างเตียงเคียงกัน” เพื่อขอรับบริจาคในการนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์เช่นเตียงผู้ป่วย หรือ แพมเพอร์ส มอบให้กับผู้สูงอายุที่มีความจำเป็นต้องใช้สิ่งเหล่านี้

การมีต้นทุนที่ดีอยู่แล้วของเทศบาลเมืองบึงยี่โถ ทำให้ดูแลผู้สูงอายุในสถานการณ์วิกฤติ ไม่ลำบากมากนัก  แต่กระนั้นยังพบว่ามีข้อจำกัดเกี่ยวกับกฎหมายบางประการที่ไม่เอื้อต่อการให้ท้องถิ่นบริหารจัดการได้อย่างเต็มที่

เช่นเดียวกับ “มหาวิทยาลัยวัยที่สามนครเชียงราย” ที่ก่อนหน้านี้มีการดึงให้ผู้สูงอายุมามีส่วนร่วมในกิจกรรมและจัดหลักสูตรที่จะเป็นภูมิคุ้มกัน และสร้างความเพลิดเพลินให้กับผู้สูงอายุ  ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรทางศาสนา วิชาสุขภาพวัยที่สาม ที่มีทั้งการสอนให้ผู้สูงอายุดูแลสุขภาพ ทั้งการออกกำลังกาย โภชนาการที่ดี การใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน การรู้เท่าทันสื่อ

และล่าสุดกับการทำหน้ากากผ้าที่ในครั้งแรก ตั้งใจทำขึ้นเพื่อสวมใส่ป้องกันหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ แต่ทว่าในภายหลังกลับเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนหลายพื้นที่ขาดตลาด แต่มหาวิทยาลัยวัยสามนครเชียงราย ร่วมกับภาคประชาสังคมในชุมชนช่วยกันผลิตหน้ากากผ้าแจกจ่ายได้ถึง 60,000 ชิ้น

นางอุบลวรรณ  แสนมหายักษ์ ผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยวัยที่สามนครเชียงราย เล่าว่า ในช่วงเกิดวิกฤตโควิด-19 ผู้สูงวัยที่เป็นสมาชิกสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้ เพราะก่อนหน้านี้ได้มีการเรียนรู้ผ่านหลักสูตรของมหาวิทยาลัยวัยที่สาม ที่เห็นได้ชัดคือเรื่องข่าวปลอม ที่ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมของการรู้เท่าทันและช่วยเตือนผู้สูงอายุอื่นอย่าหลงเชื่อ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการติดต่อสื่อสารในช่วงเวลาที่ต้องรักษาระยะห่างทางสังคม

ขณะที่นายแพทย์สกานต์  บุนนาค สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ มองถึงระบบสาธารณสุขที่เข้ามาจัดการดูแลผู้สูงอายุในสภาวะวิกฤตว่า  ระบบสาธารณสุขของไทยมีระบบปฐมภูมิที่ดีมาก มีนโยบายการดูแลสุขภาพเป็นระดับชั้น เริ่มตั้งแต่อสม. โรงพยาบาลชุมชน  โดยมีการดูแลในลักษณะของทีมหมอครอบครัว ซึ่งทำให้เกิดเครือข่ายพื้นฐานที่สามารถดูแลทุกกลุ่มวัย รวมถึงผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การเกิดสถานการณ์วิกฤติที่ผ่านมากลุ่มนี้สามารถช่วยในการควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดีขณะเดียวกันในส่วนของโรงพยาบาลเอง ก็มีการปรับตัวเช่นกัน จากเดิมที่ในภาวะปกติโรงพยาบาลจะมีความหนาแน่นของผู้ป่วยสูง ซึ่งเมื่อเกิดวิกฤติขึ้นกระทรวงสาธารณสุขจึงมีการออกมาตรการเกี่ยวกับระบบบริการที่เป็นวิถีใหม่ขึ้น เช่น กลุ่มโรคเรื้อรัง มีการส่งยาไปบ้านผ่านทางไปรษณีย์หรือร้านยาใกล้บ้าน

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของฐานข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ (Personal Health record) ที่ไม่มีความเชื่อมโยงกัน แต่กระทรวงสาธารณสุขได้พยายามพัฒนาระบบฐานข้อมูล  ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาแอพพลิเคชั่น เพื่อให้สามารถใช้ข้อมูลร่วมกันได้ทั้งหมด โดยเริ่มทดลองใช้ที่จังหวัดปัตตานีแล้ว ซึ่งถ้าเกิดว่าได้ผลดีก็จะขยายไปยังพื้นที่ต่อไป

fหลากความคิดเห็นเหล่านี้คือการร่วมกันถอดบทเรียนการดูแลผู้สูงอายุในช่วงวิกฤตทีหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำปรับและปฏิบัติตามจะทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคตได้อยางแน่นอน