เวทีเสวนา มส.ผส.เผย สถิติผู้สูงอายุอยู่คนเดียวตามลำพังมากขึ้น แนะแนวทาง “สูงวัยในที่เดิม” เน้น ปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้เป็นมิตรกับทุกคน
อัตราการสูงวัยของประชากรไทยเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการลดลงของการเกิดและการตายของคนไทย แต่ทว่าหนึ่งในปัจจัยสี่ของการดำรงชีวิตอย่างที่อยู่อาศัยยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ท้าทายคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุไทยทั้งในแง่ ความเพียงพอ คุณภาพ และความเหมาะสม
ที่ผ่านมาภาครัฐมีมาตรการด้านที่อยู่อาศัยหลายรูปแบบ เช่น การสร้างที่อยู่อาศัยเชิงสถาบันที่มุ่งเน้นให้ผู้สูงอายุมาอาศัยอยู่ร่วมกัน ทั้งในรูปแบบการสงเคราะห์ และรูปแบบใหม่ ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบวงจร รวมถึงแนวทางการสนับสนุนการ “สูงวัยในที่เดิม” ที่มุ่งเน้นการอยู่อาศัยร่วมกันหลายรุ่นวัย ทั้งในรูปแบบการซ่อมแซมบ้าน การปรับปรุงสภาพแวดล้อม การเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกภายในบ้าน และการออกแบบที่อยู่อาศัยใหม่ ตามแนวคิดการออกแบบเพื่อทุกคนเพื่อให้สามารถอยู่อาศัยได้ตลอดชีวิต
แต่ทิศทางการดำเนินนโยบายรัฐที่ผ่านมาอาจยังไม่สามารถตอบโจทย์รูปแบบ และความต้องการที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้สูงอายุไทย รวมถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับคนวัยทำงานที่จะกลายเป็นผู้สูงอายุในอนาคตได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกกลุ่มรายได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2565 ไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ และในปี 2576 สัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปของไทยจะมีมากถึงร้อยละ 28 ของจำนวนประชากรทั้งหมด หรือเป็นในสังคมสูงวัยระดับสุดยอด
จากสถิติพบว่าในปัจจุบันมีครัวเรือนเกือบครึ่งที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ในครัวเรือน แต่ในขณะเดียวกันก็พบว่าสัดส่วนผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังคนเดียวและอยู่ลำพังกับผู้สูงอายุด้วยกันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน
แนวโน้มนี้ชี้เห็นถึงความต้องการด้านบริการและการดูแลที่บ้านและในชุมชนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ รวมถึงการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่จะเอื้อให้ผู้สูงอายุที่ยังมีร่างกายแข็งแรงสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง
“การสูงวัยในที่เดิม” จึงควรเป็นแนวทางหลักสำหรับการออกแบบและขับเคลื่อนนโยบายด้านที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมและเป็นไปได้มากที่สุด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุไทยได้อย่างเป็นรูปธรรมและเกิดความยั่งยืน
ทั้งนี้ ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุมี 3 รูปแบบ คือ 1.การสูงวัยในที่เดิม คือ การซ่อมแซมบ้านและปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับทุกคน และ การสร้างที่อยู่อาศัยใหม่พร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกภายใน แต่เน้นการอยู่อาศัยร่วมกันของคนทุกช่วงวัยและตลอดช่วงชีวิต
โดยมีการดำเนินงาน โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ การเคหะแห่งชาติ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงมีการเผยแพร่ความรู้โดยมหาวิทยาลัยชั้นนำของรัฐ เช่น คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทั้งสองรูปแบบนี้ต้องการให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่ในบ้านหรือชุมชนเดิมของตนเองให้ได้นานที่สุด
2.การพัฒนาที่อยู่อาศัยเชิงสถาบัน แบบแรก เป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบของสถานสงเคราะห์ให้กลายเป็นศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุที่เพิ่มบทบาทจากการเป็นที่พักพิงแก่ผู้สูงอายุให้เป็นศูนย์เรียนรู้ฝึกอบรมและพัฒนาผู้สูงอายุแบบครบวงจร โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ
แบบที่สอง เป็นการสร้างทางเลือกใหม่ของที่อยู่อาศัยเชิงสถาบันที่มาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจร มีกรมธนารักษ์ กรมกิจการผู้สูงอายุ และการเคหะแห่งชาติ รับผิดชอบและร่วมมือกับหน่วยงานอื่น เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัย และธนาคารต่างๆโดยทั้งสองรูปแบบวางให้ผู้สูงอายุมาอาศัยอยู่ร่วมกันง่ายต่อการบริการและอำนวยความสะดวก
3.การปรับปรุงสภาพแวดล้อมในพื้นที่สาธารณะและการจัดบริการ ซึ่งเป็นอีกแนวทางสำคัญที่ช่วยหนุนเสริมที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมที่เอื้อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมกิจการผู้สูงอายุ กรมอนามัยและกรมสนับสนุนบริการทางสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงคมนาคม และมหาวิทยาลัยต่างๆ
ที่มา : เวทีเสวนา “นโยบายและการจัดการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย” เมื่อวันที่วันที่ 8 กันยายน 2563