สำรวจระบบบำนาญในไทย ก่อนเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์

สำรวจระบบบำนาญในไทย ก่อนเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์

 “บำนาญ” มีขึ้นเพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต ให้ผู้สูงอายุมีรายได้ใช้จ่ายในยามเกษียณ โดยระบบบำนาญที่ดีควรที่จะต้องให้ผลประโยชน์ที่เพียงพอต่อการครองชีพ อยู่ในความสามารถที่บุคคลและสังคมจะจ่ายได้ เป็นระบบที่มีความยั่งยืนและแข็งแกร่ง และที่สำคัญ คือ เรื่องของการให้ความครอบคลุมต่อกลุ่มคนกลุ่มต่างๆ

ผลการศึกษาเรื่อง “ทิศทางและนโยบายปฏิรูประบบบำนาญของประเทศไทย” โดย ศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ประเทศไทยมีระบบบำเหน็จบำนาญอยู่หลายระบบ

ประกอบไปด้วย เบี้ยยังผู้สูงอายุ บำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น บำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร กองทุนประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนสงเคราะห์กระทรวงศึกษาธิการ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

โดยมีทั้งระบบผู้จะรับสิทธิ์ประโยชน์ไม่ต้องมีส่วนร่วมจ่าย เพราะแหล่งเงินมาจาก “งบประมาณแผ่นดิน” คือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ บำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น และบำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร

ระบบที่ผู้รับสิทธิ์ประโยชน์จะต้องมีส่วนร่วมจ่าย คือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนสงเคราะห์กระทรวงศึกษาธิการ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

นอกจากนี้ยังมีระบบจะต้องมีส่วนร่วมจ่ายเป็นระบบเฉลี่ยทุกข์-เฉลี่ยสุข ร่วมจ่ายโดย เจ้าตัว นายจ้าง และรัฐบาล คือกองทุนประกันสังคม และกองทุนสงเคราะห์กระทรวงศึกษาธิการ

ขณะที่ระบบอยู่บนหลักการของการออม และมีการสมทบร่วมโดยนายจ้างหรือรัฐบาล มีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนการออมแห่งชาติ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ทั้งนี้หากแบ่งออกตามเป้าหมาย พบว่า เป้าหมายที่มุ่งเน้นการจัดสรร “บำนาญ”ให้กับประชาชน คือ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ บำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น บำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร กองทุนประกันสังคม และกองทุนการออมแห่งชาติ

ส่วนเป้าหมายที่เน้นการจัดสรร “เงินก้อน”ให้กับประชาชน คือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนสงเคราะห์กระทรวงศึกษาธิการ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

โดยระบบบำเหน็จบำนาญของประเทศไทยมีลักษณะเป็น “ปิ่นโต” ซึ่งหมายความว่า ประชาชนคนหนึ่งมีโอกาสจะได้รับประโยชน์จากระบบบำเหน็จบำนาญหลายระบบได้พร้อมกัน ตามลักษณะทางประชากร อาชีพ สถานะการทำงาน และสถานที่ทำงาน ซึ่งบางคนอาจมีปิ่นโตหลายชั้น ขณะที่บางคนอาจมีปิ่นโตเพียงชั้นเดียว

ทำให้กลุ่มคนบางส่วนของสังคม เช่น แรงงานนอกระบบ มีเพียงเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ทำให้คนกลุ่มนี้ขาดความมั่นคงทางด้านรายได้ ขณะเดียวกันจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น อาจส่งผลต่อสถานะการคลังของรัฐบาลด้วย

ด้วยเหตุนี้มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย   สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดเวทีเสวนาวิชาการประเด็น “ปฏิรูประบบบำนาญไทยเพื่อสังคมสูงวัยในอนาคต” ในวันอังคารที่ 6 ตุลาคมนี้ เวลา 09.00 – 12.00 น. ที่ห้องประชุมแมนดาริน C โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ โดยผู้สนใจสามารถร่วมรับฟังได้

โดยมีนพ.นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย พญ.ลัดดา ดาริการเลิศ ผู้อำนวยการแผนงานวิจัยท้าทายไทย ชี้แจงวัตถุประสงค์การประชุม และ ศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะนำเสนอผลการศึกษา”ทิศทางและนโยบายปฏิรูประบบบำนาญของประเทศไทย”  พร้อมกับการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นตลอดจนแนวทางการศึกษาในประเด็นท่ีเกี่ยวข้อง สรุปประเด็นสำคัญ และแนวทางการดำเนินงานเพื่อประโยชน์กับระบบบำนาญของไทยให้ยังยืนต่อ ไป