เวทีเสวนาวิชาการปฏิรูประบบบำนาญไทยเพื่อสังคมสูงวัยในอนาคต

มส.ผส.ผนึก วช.และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  จัดเวทีเสวนาวิชาการในหัวข้อ ปฏิรูประบบบำนาญไทยเพื่อสังคมสูงวัยในอนาคต พร้อมเปิดงานวิจัยทิศทางและนโยบายปฏิรูประบบบำนาญของประเทศไทย พบข้อมูลประชากรวัยทำงานที่มีหลักประกันส่วนเพิ่มเติมจากบำนาญหรือเบี้ยยังชีพยังครอบคลุมไม่มากเพียง 38.82 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น  ระบุสถานการณ์โควิด 19 ทำให้แรงงานจำนวนมากหลุดจากระบบประกันสังคม พร้อมเสนอรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดัน platform ที่จะพัฒนาระบบบำเหน็จบำนาญในประเทศไทยอย่างเป็นองค์รวม

 

วันนี้ (6 ก.ย.) ที่ห้องประชุมแมนดาริน C โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพมหานคร มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้ร่วมกันจัดเวทีเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ปฏิรูประบบบำนาญไทยเพื่อสังคมสูงวัยในอนาคต” โดยมีนพ.นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ ผู้อำนวยการแผนงานวิจัยท้าทายไทย ชี้แจงวัตถุประสงค์การประชุมและมีการนำเสนอผลการศึกษา” ทิศทางและนโยบายปฏิรูประบบบำนาญของประเทศไทย”     ของศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วย

โดย ศ.ดร.วรเวศม์ ระบุถึงผลการศึกษาว่า ประเทศไทยมีระบบบำเหน็จบำนาญหลากหลาย มีหลักปรัชญา แนวคิด และแหล่งที่มาของเงินที่แตกต่างกัน ครอบคลุมประชากรกลุ่มเป้าหมายต่างกันไป มีทั้งระบบผู้จะรับสิทธิประโยชน์ไม่ต้องมีส่วนร่วมจ่าย เพราะแหล่งเงินมาจาก “งบประมาณแผ่นดิน” คือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ บำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น และบำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานครซึ่งระบบที่ผู้รับสิทธิประโยชน์จะต้องมีส่วนร่วมจ่าย คือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนสงเคราะห์กระทรวงศึกษาธิการ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นอกจากนี้ยังมีระบบจะต้องมีส่วนร่วมจ่ายเป็นระบบเฉลี่ยทุกข์-เฉลี่ยสุข ร่วมจ่ายโดย เจ้าตัว นายจ้าง และรัฐบาล คือกองทุนประกันสังคม และกองทุนสงเคราะห์กระทรวงศึกษาธิการขณะที่ระบบอยู่บนหลักการของการออม และมีการสมทบร่วมโดยนายจ้างหรือรัฐบาล มีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนการออมแห่งชาติ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวเปิดงาน

ศ.ดร.วรเวศม์ ระบุเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้หากแบ่งออกตามเป้าหมาย พบว่า เป้าหมายที่มุ่งเน้นการจัดสรร บำนาญให้กับประชาชน คือ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ บำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น บำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร กองทุนประกันสังคม และกองทุนการออมแห่งชาติซึ่งในส่วนเป้าหมายที่เน้นการจัดสรร “เงินก้อน”ให้กับประชาชน คือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนสงเคราะห์กระทรวงศึกษาธิการ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

“ระบบบำเหน็จบำนาญของประเทศไทยมีลักษณะเป็น “ปิ่นโต” ซึ่งหมายความว่า ประชาชนคนหนึ่งมีโอกาสจะได้รับประโยชน์จากระบบบำเหน็จบำนาญหลายระบบได้พร้อมกัน ตามลักษณะทางประชากร อาชีพ สถานะการทำงาน และสถานที่ทำงาน ซึ่งบางคนอาจมีปิ่นโตหลายชั้น ขณะที่บางคนอาจมีปิ่นโตเพียงชั้นเดียว ทำให้กลุ่มคนบางส่วนของสังคม เช่น แรงงานนอกระบบ มีเพียงเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ทำให้คนกลุ่มนี้ขาดความมั่นคงทางด้านรายได้ ขณะเดียวกันภายใต้ระบบบำเหน็จบำนาญที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน รัฐบาลต้องมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูง จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆและมีอายุยืนขึ้น ก็จะส่งผลต่อสถานการณ์การคลังของรัฐบาลในอนาคตด้วย” ศ.ดร.วรเวศม์กล่าว

พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ ผู้อำนวยการแผนงานวิจัยท้าทายไทย ชี้แจงวัตถุประสงค์

ศ.ดร.วรเวศม์ กล่าวว่า ระบบบำนาญของไทยในปัจจุบัน โดยหลักการผู้สูงอายุไทยทุกคนจะอยู่ในข่ายที่ได้รับบำนาญข้าราชการหรือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นพื้นฐาน เมื่อพิจารณาจำนวนผู้ที่กำลังรับเงินบำนาญข้าราชการและเบี้ยยังชีพรวมกันต่อจำนวนประชากรผู้สูงอายุทั้งหมดมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 88 นั่นสะท้อนให้เห็นว่าระบบบำนาญของไทยในปัจจุบันสร้างความครอบคลุมสำหรับการคุ้มครองด้านรายได้ให้กับผู้สูงอายุไทยได้กว้างขวางทีเดียว

ขณะเดียวกันประชากรวัยทำงานมีโอกาสในการสร้างหลักประกันเพิ่มเติมไปมากกว่านั้น ผ่านระบบบำนาญอื่นๆ เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ประกันสังคม กองทุนสงเคราะห์กระทรวงศึกษาธิการโดย กองทุนการออมแห่งชาติจะช่วยเก็บตกประชากรวัยทำงาน ที่ไม่ใช่ลูกจ้างในสถานประกอบการต่างๆ ไม่วาจะเป็น แรงงานนอกระบบ ประชากรวัยทำงานที่ไม่อยู่ในกำลังแรงงาน ให้สร้างหลักประกันได้

ศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา นำเสนอผลการศึกษาทิศทางและนโยบายปฏิรูประบบบำนาญของประเทศไทย

“อย่างไรก็ตามปัจจุบันไทยมีระบบเพื่อรองรับประชากรวัยทำงานทุกกลุ่มก็จริง แต่ประชากรวัยทำงานที่มีหลักประกันส่วนเพิ่มเติมจากบำนาญหรือเบี้ยยังชีพ ยังครอบคลุมไม่มากนัก เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับประชากรวัยกำลังแรงงาน อายุ 15-59 ปี มีจำนวน 42,845,915 คน ในปลายปี 2562 ประชากรวัยทำงานที่มีบำนาญส่วนเพิ่มที่กล่าวไปนั้นมีความครอบคลุม ประมาณร้อยละ 38.82 เท่านั้น” ศ.ดร.วรเวศม์กล่าว

ศ.ดร.วรเวศม์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จะเห็นได้ว่า ระบบบำนาญของประเทศไทยอย่างที่เป็นอยู่มีระบบบำนาญหลายระบบ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ตามกลุ่มประชากร อาชีพ สถานภาพการทำงาน สถานที่ทำงาน และเป็นระบบบำนาญแบบหลายชั้นและมีระบบการบริหารจัดการที่แยกออกจากกัน การตัดสินใจเป็นเอกเทศกันและกัน  และที่สำคัญที่สุดคือในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้เห็นข้อจำกัดของระบบการมีส่วนร่วมจ่ายและความไม่เชื่อมโยงระหว่างระบบ

เราพบแรงงานหลายคนต้องหลุดจากระบบประกันสังคมเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ การลดอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมส่งผลต่อกองทุนประกันสังคม ลูกจ้างและนายจ้างหยุดเลื่อนการจ่ายเงินสะสมเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  มีนายจ้างลดอัตราการจ่ายเงินสมทบการยกเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทในหลายแห่งด้วย

 

สิ่งสำคัญอันดับแรกของการเปลี่ยนแปลงระบบบำนาญของประเทศคือการสร้าง platform ที่เป็นทางการ ที่จะมองเห็น และนำพาระบบบำเหน็จบำนาญของประเทศไปในทิศทางที่ควรจะเป็นอย่างเป็นองค์รวม และ platform นี้จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้แนะนำชี้ทิศทางของระบบบำเหน็จบำนาญของประเทศที่มองผลประโยชน์ของ “ประชาชน” เป็นศูนย์กลาง ไม่ได้มองแค่ “แต่ละระบบ” และประสานผลประโยชน์ของผู้สูงอายุรุ่นนี้รุ่นหน้า รวมถึงสถานภาพการทำงานและอาชีพของประชาชนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้สูงอายุด้วย  ซึ่งในร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ….. ที่ได้ระบุในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ไว้อย่างครอบคลุม