เปิดโมเดล สิงคโปร์-ออสเตรเลีย เน้นผู้สูงอายุดูแลตัวเองได้ในสถานการณ์วิกฤต

เปิดโมเดล “Self Care -Stay Strong-Stay Safe” สิงคโปร์ออสเตรเลีย เน้นผู้สูงอายุดูแลตัวเองได้ในสถานการณ์วิกฤต  

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เกือบทุกประเทศได้ทุ่มเทสรรพกำลังและทรัพยากรอย่างเต็มที่ในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่นี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มเปราะบางอย่างผู้สูงอายุ มีบางประเทศที่นอกจากจะดูแลองค์รวมแล้ว ยังส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุดูแลตัวเองอย่างปลอดภัยในสถานการณ์วิกฤติ

การนำเสนอบทเรียนจากไทยและต่างประเทศในการดูแลผู้สูงอายุในช่วงวิกฤติโดยศ.ศศิพัฒน์  ยอดเพชรผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมศาสตร์ คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ในเวทีอภิปราย “การดูแลผู้สูงอายุสูงอายุในช่วงวิกฤต…บทเรียนจากไทยและต่างประเทศเพื่ออนาคต” เนื่องในวันผู้สูงอายุสากล โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย เมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมาพบว่า ออสเตรเลีย และ สิงคโปร์ เป็นประเทศที่เน้นให้ผู้สูงอายุพึ่งตนเอง เพื่อให้ดำเนินชีวิตได้อย่างราบรื่น ภายใต้แนวคิด ดูแลตัวเอง (Self Care) อยู่อย่างแข็งแรง (Stay Strong) และอยู่อย่างปลอดภัย (Stay Safe)

ใน “ออสเตรเลีย” ได้จัดทำคู่มือสำหรับบริการผู้สูงอายุทั้งในแบบรูปเล่มและลงเนื้อหาในเว็บไซต์กรมพัฒนาชุมชน พร้อมกับมีสายด่วนโควิดแห่งชาติ ข้อมูลบริการดูแลผู้สูงอายุ( My Aged Care) ซึ่งประกอบไปด้วย เครือข่ายที่ปรึกษา การจัดหาผู้ดูแล การช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินและอาหาร รวมถึงให้บริการผู้ที่มีความยากลำบากทางการเงิน

นอกจากนี้ยังคำนึงถึงความแตกต่างในกลุ่มต่างๆ  โดยทำข้อมูลสำหรับชาวอะบอริจินและอื่นๆ ซึ่งคลื่นวิทยุมีถึง 63 ภาษา เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ นอกจากนี้ยังคำนึงถึงความหลากหลายทางเพศ โดยมีข้อมูลบริการให้ความช่วยเหลือกลับกลุ่มLGBTIQด้วย

ส่วนที่ “สิงคโปร์” National university hospital ได้จัดทำข้อแนะนำการปฏิบัติตัวในที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุ ทั้งให้อยู่แบบแข็งแรง (Stay strong) โดยแนะนำให้ผู้สูงอายุ ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง,ควบคุมภาวะโรค ,คงการติดต่อกับครอบครัว หรือเพื่อน และคงทำงานอดิเรก

และการอยู่อย่างปลอดภัย (Stay Safe) เช่น การดูแลรองเท้าและเท้าอย่างเหมาะสมทำอย่างไร การจัดบ้านให้ปลอดภัย การเพิ่มประสิทธิภาพการรับประทานอาหาร

“ข้อแนะนำมีกระทั่งว่าควรต้องเช็ดเท้าอย่างไร รองเท้าแตะจะต้องใส่อย่างไร จัดบ้านให้ปลอดภัย ไฟจะต้องเปลี่ยน ไฟริบหรี่ใช้ไม่ได้เดี๋ยวจะล้ม จะรับประทานอาหารอย่างไรมีการออกเมนูมาให้ผู้สูงอายุในช่วงโควิดโดยเฉพาะ ฉะนั้นอันนี้จะต่างจากบ้านเรา เพราะว่าของเราไม่ค่อยจะมีข้อมูลในการที่จะป้องกันตัวเอง รักษาตัวเอง ซึ่งผลก็ออกมาว่าประเทศเราป้องกันตัวเองได้ดีมาก แต่ข้อมูลด้านสังคมก็จะมีน้อยอยู่”ศ.ศศิพัฒน์ ระบุ

การถอดบทเรียนนี้ จึงเป็นไปเพื่อนำเสนอแนวทางการจัดบริการสังคมทางเลือกสำหรับผู้สูงอายุในช่วงสถานการณ์วิกฤตในอนาคตต่อไป